วันมาฆบูชามหาสมาคม



วันมาฆบูชามหาสมาคม ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เป็นวันสำคัญยิ่งวันหนึ่งของโลก และเป็นวันประวัติศาสตร์ของการเริ่มต้นเผยแผ่พระพุทธศาสนา อย่างมีระบบระเบียบ แบบแผน
เมื่อราว ๒,๕๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา ได้มีการประชุมใหญ่ของพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ในวันที่พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ เราเรียกการประชุมครั้งนั้นว่า จาตุรงคสันนิบาตซึ่งพระอรหันตสาวกได้มาประชุมพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมายทางวาจา แต่ต่างก็รู้กันด้วยใจของพระอรหันต์ผู้หมดกิเลส ทรงอภิญญา ท่านสามารถรับรู้ได้ด้วยญาณทัสสนะของพระธรรมกายอรหัตผล และพระขีณาสพทุกรูป ล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือผู้ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานการอุปสมบทให้ด้วยพระองค์เอง
ในการประชุมวาระพิเศษครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน และทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ให้กับพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ซึ่งเป็นหลักธรรมคำสอนแม่บทในพระพุทธศาสนา อันจะนำพาชีวิตของผู้ที่ได้นำคำสอนนี้ไปประพฤติปฏิบัติ ให้บังเกิดความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต กระทั่งทำให้สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้
พระพุทธองค์ทรงวางรากฐานในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยได้ตรัสถึงอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการในการเผยแผ่ เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
อุดมการณ์ คือ ความตั้งใจอันสูงส่งที่ต้องยึดมั่นเอาไว้ในใจ เพื่อให้การเผยแผ่บรรลุถึงจุดหมายอย่างมีประสิทธิผลสูงสุด ซึ่งในเบื้องต้นจะต้องมีขันติ ดังพระดำรัสที่ว่า
ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา ความอดทน อดกลั้น เป็นตบะธรรมอย่างยิ่ง ต้องอดทนเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย คือนิพพาน เนื่องจากท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่า
นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า พระนิพพานเป็นเยี่ยม และในระหว่างที่มุ่งไปสู่นิพพานต้องไม่เบียดเบียนทำร้ายใคร ดังพุทธพจน์ ที่ว่า
นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโตบรรพชิตผู้ฆ่าสัตว์อื่น เบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่ชื่อว่าสมณะเลย
เอตัง พุทธานะสาสะนัง นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ซึ่งการที่จะประพฤติปฏิบัติตามคำสอน จนกระทั่งทำพระนิพพานให้แจ้งได้นั้น จะต้องมีความอดทนเป็นพื้นฐาน ตั้งแต่ต้องอดทนต่อความยากลำบาก อดทนต่อการกระทบกระทั่ง อดทนต่ออำนาจกิเลสที่มาเย้ายวน และอดทนในการฝึกฝนอบรมใจให้หยุดนิ่ง ความอดทนเป็นคุณธรรมเบื้องต้นที่จะต้องสั่งสมอบรมให้มาก เพื่อก้าวข้ามพ้นวัฏฏะไปสู่ฝั่งแห่งพระนิพพาน เพราะท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่า พระนิพพานเป็นเยี่ยม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ทรงสรรเสริญว่า พระนิพพานเป็นเยี่ยมที่สุด และเป็นเป้าหมายสูงสุดของทุกชีวิต ซึ่งการที่จะบรรลุพระนิพพานได้นั้นจะต้องเจริญสมาธิภาวนาให้เข้าถึงพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะภายใน ด้วยการทำใจให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกาย ฐานที่ ๗ เมื่อได้เข้าถึงพระรัตนตรัย แล้วจะได้เป็นกัลยาณมิตรให้แก่ชาวโลก
และให้พึงสังวรระวังว่า ในขณะที่ไปทำหน้าที่กัลยาณมิตร ไปชักชวนคนมาสร้างความดี อย่าได้ไปเบียดเบียนบังคับใครเพื่อให้เขามาเชื่อ หรือมาตามเรา ให้เขาใช้สติปัญญาใคร่ครวญดูด้วยเหตุผลไปตามความเป็นจริง และตัดสินใจเชื่อด้วยตัวเอง ซึ่งบรรพชิตหรือนักสร้างบารมีที่ดีควรจะทำอย่างนี้ ที่กล่าวมานี้ คือคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และที่จะบังเกิดขึ้นในอนาคต พระองค์จะสอนตรงกันหมด
หลักการในการเผยแผ่ซึ่งเป็นหลักวิชชาชีวิตที่สำคัญ ที่จะต้องนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เริ่มต้นด้วยการละชั่ว ทำดี ทำใจให้ใส ทรงมีพระพุทธดำรัสว่า
สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง การไม่ทำบาปทั้งปวง
กุสะลัสสูปะสัมปะทา การบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อม
สะจิตตะปะริโยทะปะนัง การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว
เอตัง พุทธานะสาสะนัง นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
หลักการนี้เป็นหัวใจสำคัญ ที่พุทธบริษัททั้ง ๔ จะต้องนำไปใช้ในชีวิตจริง และเอาไปแนะนำชาวโลก โดยยึดมั่นหลัก ๓ ประการ คือ ให้เว้นจากความทุจริตทางกาย ทางวาจา และทางใจ ให้ประกอบแต่สุจริตธรรม ด้วยกาย วาจา ใจ และต้องทำใจให้ผ่องใสอยู่เสมอ
พูดง่ายๆ คือ ให้หักดิบเลิกทำความชั่วทุกชนิด ตั้งใจทำแต่ความดี มีทาน ศีล ภาวนา ประพฤติอ่อนน้อม ขวนขวายในกิจที่ชอบ อุทิศส่วนกุศล อนุโมทนาบุญ ฟังธรรม ให้ธรรมทาน และทำความเห็นให้ตรงต่อหนทางพระนิพพาน โดยเฉพาะให้หมั่นเจริญสมาธิภาวนาทุกวัน อย่าได้ขาด
วิธีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องสมบูรณ์ เป็นหนทางไปสู่การมีชีวิตที่บริสุทธิ์บริบูรณ์ ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติดังต่อไปนี้คือ
อนูปะวาโท  ไม่ให้ไปว่าร้ายใคร
อนูปะฆาโต  ไม่ให้ไปทำร้ายใคร
ปาฏิโมกเข จะ สังวะโร  ให้สำรวมในศีล ถ้าเป็นบรรพชิตก็สำรวมในพระปาฏิโมกข์
มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง  ให้รู้จักประมาณในการบริโภค
ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง  ให้อยู่ในเสนาสนะอันสงัด
อะธิจิตเต จะ อาโยโค  ให้หมั่นประกอบความเพียรในอธิจิต
เอตัง พุทธานะสาสะนัง  นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
พระพุทธโอวาทนี้จะทำให้ผู้ปฏิบัติตาม สามารถล่วงพ้นความทุกข์ เข้าถึงความสุขที่แท้จริงได้ และทำให้ก้าวพ้นความเป็นปุถุชนเข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าได้ กระทั่งได้บรรลุพระนิพพานอันเกษม
โอวาทปาติโมกข์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือเนติแบบแผน ว่าด้วยการเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เพื่อให้เป็นหลักปฏิบัติของมวลมนุษยชาติ  ตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้กี่พระองค์แล้วก็ตาม ก็ยังคงมีการสืบทอดและให้ยึดหลักการนี้ไว้เป็นแนวทางในการเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอน
เมื่อเราปรารถนาบุญใหญ่ และอยากจะให้ชีวิตของเราสมบูรณ์ ก็ต้องทำตามโอวาทของพระพุทธองค์ และปฏิบัติให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้ เพราะบุญกุศล ความบริสุทธิ์ อานุภาพอันไม่มีประมาณ ล้วนประชุมรวมกันอยู่ในกลางพระธรรมกาย ซึ่งมีอยู่แล้วในตัวของเราและมนุษย์ทุกๆ คนในโลก ถ้าทุกคนทั่วโลกได้เข้าถึงพระธรรมกาย โลกก็จะพบกับสันติสุขที่แท้จริง สันติภาพอันถาวรก็จะบังเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการปฏิบัติตามหลักโอวาทปาติโมกข์จึงเป็นการสร้างสันติสุขที่แท้จริงให้บังเกิดขึ้นในโลก
คุณครูไม่ใหญ่
 ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๙


1 ความคิดเห็น:

Facebook