แสวงหาอัตตา...ในอนัตตา

บวชแล้วก็ต้องศึกษาคำว่าอัตตา กับ อนัตตา ให้ดี  ไม่อย่างนั้นยุ่งชะมัดเลย  ที่จริงมันของง่าย ๆ นะ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านพูดตรง ๆ อยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่า แปลว่าอะไร
ในตัวเรามีทั้งอัตตา และอนัตตา  บวชเพื่อหาอัตตาในอนัตตา
วัตถุประสงค์การบวชเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม  เพื่อแสวงหาอัตตา แต่อัตตาอยู่ในอนัตตา ที่ทะเลาะกันอยู่ เพราะแปลไม่เหมือนกัน
อนัตตา   พวกหนึ่ง      แปลว่า  ไม่มีตัวตน 
อีกพวกหนึ่ง   แปลว่า  ไม่ใช่ตัวตน 
พวกแปลว่า  ไม่มีตัวตน จึงโยงไปถึงพระนิพพานสูญ  คือไม่มีอะไรเลย
ที่แปลว่า ไม่ใช่ตัวตน ก็ว่า นิพพานยังมีอยู่ เป็นที่รองรับผู้บริสุทธิ์  เป็นอายตนะหนึ่งที่ไม่ใช่โลกนี้  ไม่ใช่โลกไหน  ไม่มีการไป  ไม่มีการมา  ไม่มีการยืน ไม่มีการเดิน  ไม่มีการนอน  มีแต่นั่งอย่างเดียว  ไปอ่านดูเถอะในพระไตรปิฎก
ถ้า "อนัตตา"  แปลว่า ไม่ใช่ตัวตน
แล้ว อมนุษย์ เราจะแปลว่าอะไร ไม่มีมนุษย์  หรือแปลว่า ไม่ใช่มนุษย์
สมมติเราไปเจอตัวอะไรคะยึกคะยือในห้องน้ำ รูปร่างอย่างนั้น  อมนุษย์ จะแปลว่า ไม่มีมนุษย์  หรือจะแปลว่า ไม่ใช่มนุษย์ ก็ต้องแปลว่า ไม่ใช่มนุษย์ 
เพราะฉะนั้น อวิชชา ก็แปลว่า ไม่ใช่วิชชา  ไม่ได้แปลว่า  ไม่มีวิชชา 
หรือ อรูปพรหม แปลว่า ไม่ใช่รูปพรหม  แปลว่า ไม่มีรูปพรหมก็ไม่ใช่  หรือพรหมไม่มีรูปก็ไม่ใช่อีก แต่แปลว่า ไม่ใช่รูปพรหม จึงเรียกว่า อรูปพรหม เพราะหน้าตาคล้าย ๆ กัน  ระหว่างรูปพรหมกับอรูปพรหม  ไม่รู้จะเรียกอะไรก็เลยเรียกว่า  ไม่ใช่รูปพรหม  ไม่ได้แปลว่า ไม่มีรูปพรหม  เพราะฉะนั้นมันขึ้นอยู่กับแปลตรงนี้ 
ทีนี้ “อนัตตา” ที่แปลว่า ไม่ใช่ตัวตน เพราะอะไร
เพราะถ้าเราเป็นตัวของเรา (อัตตา)เราก็ต้องเป็นอิสระ  บังคับบัญชาอะไรได้ เป็นตัวของตัวเอง จะนึกอะไรมันก็สมปรารถนาทุกอย่าง แต่นี่มันไม่อย่างนั้น จะนึก จะคิด จะพูด จะทำอะไร  มันไม่เป็นอย่างที่เราปรารถนา จึงเรียกว่า ไม่ใช่ตัวตน (อนัตตา) ไม่ได้แปลว่า ไม่มีตัวตน  
เหตุเพราะไม่เป็นอิสระ ไม่ใช่ตัวตนนี้แหละ จึงเป็นทุกข์ ไม่สบายใจ  เพราะไม่ได้ดังใจ เพราะมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เดี๋ยวขึ้น เดี๋ยวลง เดี๋ยวเป็นนั่น  เป็นนี่  เป็นโน่น อยู่ตลอดเวลา ยังตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม ตอนช่วงไหนประมาทในชีวิต  ไม่คิดทำบุญ  ชีวิตก็ตกต่ำ  ตอนช่วงไหนไม่ประมาทหมั่นสั่งสมบุญชีวิตก็สูงส่ง ก็จะมีขึ้นมีลง มีการเปลี่ยนแปลงเรื่อย ๆ จึงมีคำว่า อนิจจัง แปลว่า ไม่คงที่  มีขึ้นมีลง เดี๋ยวเป็นโน่นเป็นนี่สารพัด 
กายมนุษย์ ไม่ใช่ตัวตน จึงเป็น อนัตตา ไม่ได้แปลว่า  กายมนุษย์ไม่มีตัวตน  ก็นี่ไงมีแขน มีขา มีหัว แต่มันไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง จึงอย่าไปยึดมั่น  อย่าไปผูกพันกับมัน  ร่างกายเราเป็นแค่ทางผ่านให้ไปถึงตัวตนจริง ๆ ที่เป็น อัตตา ที่เป็นตัวตนเพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลง  เป็นอิสระ  พ้นจากการถูกบังคับบัญชาจากกิเลสอาสวะ จากกฎแห่งกรรม  มันพ้นแล้ว จึงเป็นแหล่งแห่งความสุข  จึงมีคำว่า  นิจฺจํ  สุขํ  อตฺตา
เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับว่า แปลว่าอะไร เพราะแปลไม่เหมือนกัน จึงทะเลาะกัน และที่แปลไม่เหมือนกัน  เพราะประสบการณ์ภายในไม่เหมือนกัน และที่ประสบการณ์ภายในไม่เหมือนกัน เพราะ
. ไม่ปฏิบัติ แต่เป็นนักคิด คิดโน่น คิดนี่ไปเรื่อยเปื่อย
. ปฏิบัติ แต่ผลแห่งการปฏิบัติ ความหยาบความละเอียดของการปฏิบัติไม่เท่ากัน  ก็เอาที่ไม่เท่ากันมาสรุปว่า มันคืออย่างนี้ ๆ  ก็เลยเป็นเหตุให้ทะเลาะกัน
ทีนี้ถ้าจะให้เท่ากัน มันต้องหมดกิเลสเหมือน ๆ กัน ยกตัวอย่าง ตอนก่อนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานไม่กี่นาที  พระองค์ถาม มีใครสงสัยอะไรบ้าง  ตรงนั้นมีแต่พระอรหันต์หมดกิเลสแล้ว ถึงจุดอันเดียวกันไปแล้วหมดสงสัยแล้ว ไม่มีใครสงสัย 
เพราะฉะนั้น อัตตา อนัตตา มันก็ตื้น ๆ เราอย่ามาทะเลาะกันเลย ไปปฏิบัติกันเถิด  แล้วทำประสบการณ์ให้เท่า ๆ กัน นี่ของตื้น ๆ เราคิดตื้น ๆ ก็ชื่นใจแล้ว  เหมือนเดินในน้ำตื้น ๆ ยังชื่นใจ 
ที่ว่า อัตตาอยู่ในอนัตตาคือ พระธรรมกายนั่นแหละคือ อัตตา อยู่ในร่างกายที่เป็นอนัตตา เราก็ทะลวงอนัตตาเข้าไปถึงอัตตา เดี๋ยวเราก็จะรู้ว่าอันไหนอัตตา อันไหนอนัตตา จะได้ไม่ต้องมาทะเลาะกัน
คุณครูไม่ใหญ่
๒๓  กรกฎาคม พ.. ๒๕๔๗





1

กว่าจะมาเป็นเหล็กกล้า



เหล็กกล้า” 
...กว่าจะเป็นเหล็กกล้าได้
ต้องถูกค้อนกระหน่ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า
กระหน่ำแล้วกระหน่ำอีก ทุบแล้วทุบอีก
“อุปสรรค” คือสิ่งที่หล่อหลอมชีวิตจิตใจของหลวงพ่อ
ให้เข้มแข็งดุจเหล็กกล้า
ที่พร้อมจะเผชิญหน้ากับทุกเหตุการณ์
อันอาจจะเกิดขึ้นได้
ไม่ว่าจะดีหรือร้ายก็ตาม

คุณครูไม่ใหญ่
20

ความปรารถนาของหลวงพ่อ



หลวงพ่อเชื่อว่า มวลมนุษยชาติล้วนปรารถนาความสุข แต่ส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ไหน จะเข้าถึงได้อย่างไรจึงพลาดพลั้งไปทำบาปกรรม ซึ่งเป็นทางมาแห่งความทุกข์
กรรมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว ย่อมให้ผลเสมอ กรรมบางอย่างก็ให้ผลเร็ว ส่งผลในปัจจุบันนี้ แต่บางอย่างก็ให้ผลช้า จะส่งผลในภายภาคหน้า ถ้าทำความดีก็จะได้รับผลดี ทำชั่วก็จะได้รับผลชั่ว ผลของบาปจะต้องตามเบียดเบียน เหมือนล้อเกวียนที่ตามบดขยี้รอยเท้าโค ฉะนั้น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า...
คนพาล มีปัญญาทราม แม้กระทำกรรมชั่วอยู่ ก็ไม่รู้สึกตัว
เขาย่อมจะเดือดร้อน เพราะการกระทำของตนเหมือนถูกไฟไหม้ ฉะนั้น
คนพาล แม้ประพฤติชั่วด้วยกายวาจาใจ ก็ไม่รู้สึกตัวว่า ได้ทำบาปอกุศล เพราะถูกกิเลสครอบงำ ทำให้เป็นคนเขลาเบาปัญญา กิเลสบังคับให้สร้างกรรม กรรมก็ทำให้มีวิบากเป็นผล พอถึงเวลากรรมส่งผลก็จะได้รับความเดือดร้อนทุกข์ทรมาน ละโลกไปแล้วก็ต้องตกนรก กว่าจะมารู้ตัวอีกทีก็สายไปเสียแล้ว
มีเรื่องจริงอยู่เรื่องหนึ่ง ...
นางเรวดี เป็นคนมีความตระหนี่ ชอบว่าร้ายพระภิกษุ นางเป็นภรรยาของนันทิยะ ผู้มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา คราวหนึ่งนันทิยะได้สร้างศาลาจัตุรมุขหลังใหญ่ มีตั่ง มีเตียง พร้อมด้วยอุปกรณ์อำนวยความสะดวกครบครัน แด่พระภิกษุสงฆ์
ในวันฉลองศาลา ก็ได้อาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นประมุข ในขณะนั้นบุญที่ทำก็เกิดขึ้นในศูนย์กลางกาย บรรดาทิพยวิมานอันรุ่งเรือง วิจิตรตระการตาเต็มไปด้วยรัตนะ ๗ มีความสูง ๑๒ โยชน์ พร้อมด้วยเหล่านางเทพอัปสร ๑,๐๐๐ ได้บังเกิดขึ้น ณ สวรรค์ ชั้นดาวดึงส์คือ เมื่อเราทำบุญในโลกมนุษย์ วิมานบนสวรรค์ก็เกิดขึ้นทันที รอคอยวันเวลาที่ผู้เป็นเจ้าของจะได้ไปเสวยผลบุญ
ต่อมาวันหนึ่ง นันทิยะต้องไปค้าขายต่างเมืองหลายวัน จึงให้นางเรวดี ผู้เป็นภรรยาทำแทน คือให้ทานแทนตัว แต่นางเรวดีได้ให้คนรับใช้นำข้าวสุกและอาหารที่เหลือจากการบริโภคแล้วใส่บาตรพระ เมื่อพระรับมาแล้ว เห็นว่าเป็นของเหลือเดน ไม่ควรแก่การขบฉัน จึงนำอาหารส่วนนั้นออก นางเห็นพระทำอย่างนั้น จึงได้โอกาสด่าบริภาษพระภิกษุ แล้วก็เลิกให้ทาน คือพยายามหาเหตุที่จะไม่ถวายบิณฑบาตแก่พระอยู่แล้ว
เมื่อนางเรวดีเสียชีวิต ยักษ์ ๒ ตน ได้รับคำสั่งจากท้าวเวสสุวัณ ผู้ปกครองยักษ์ ได้พานางไปดูวิมานของนันทิยะ นางเห็นวิมานสวยงามก็ขออยู่ในวิมานนั้นด้วย แต่ไม่สามารถจะอยู่ได้ เพราะในครั้งที่เป็นมนุษย์ไม่ได้ทำบุญเอาไว้
บุญเป็นของเฉพาะตน ใครทำคนนั้นได้ ใครไม่ทำก็ไม่ได้และยักษ์ก็จับแขนของนางคนละข้างฉุดกระชากไปสู่อุสทนรก ซึ่งเป็นขุมบริวารชั้นใน ล้อมรอบนรกขุมใหญ่แห่งหนึ่ง แล้วยักษ์ก็อันตรธานหายไป นายนิรยบาล ๒ ตนก็ปรากฏขึ้น มีรูปร่างใหญ่โตมหึมา เข้ามาฉุดลากนางจากขุมนรกที่สกปรกเต็มไปด้วยมูตรและคูตร มีกลิ่นเหม็นคลุ้ง นางจะต้องรับกรรมอยู่ที่นี่ถึง ๑,๐๐๐ ปีนรก
แล้วนายนิรยบาลก็ได้พรรณนาถึงโทษทัณฑ์ที่จะได้รับให้นางฟัง นางฟังแล้วก็เกิดความสยดสยองจึงร้องไห้ร่ำพิไรรำพัน ขอให้นายนิรยบาลโปรดเมตตาพาไปส่งยังมนุษยโลก และตั้งใจว่า เมื่อกลับแล้วจะตั้งใจสร้างบุญกุศล จะไม่ทำบาปกรรมอีกแม้เพียงเล็กน้อย
นายนิรยบาลส่ายหน้าแล้วกล่าวว่า เจ้าเป็นคนใจบาปหยาบช้า ด่าว่าพระภิกษุ เจ้าเป็นผู้ประมาทแล้ว ตอนนี้จะมาร้องไห้อยู่ทำไม จงเสวยผลกรรมที่เจ้าได้กระทำไว้ เราอนุญาตให้เจ้ากลับไปไม่ได้หรอก
นางก็ขอร้องว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านโปรดเอ็นดู ช่วยไปบอกลูกของฉันด้วยว่า ขอให้เขาจงเร่งทำบุญให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา ส่วนตัวฉันเมื่อพ้นจากทุกข์ที่นี่แล้ว หากมีวาสนาได้เกิดมาเป็นมนุษย์อีกก็จะตั้งใจทำบุญกุศลให้มาก จะไม่ประมาทอีกแล้ว นายนิรยบาลจึงกล่าวว่า แม้คิดได้ในตอนนี้ มันก็สายเกินไปแล้ว หลังจากนั้นก็นำนางไปลงโทษอย่างแสนสาหัส
เพราะฉะนั้น อย่าประมาทในชีวิตกันนะ จงเร่งสร้างบุญสร้างกุศลกันให้เต็มที่ เพราะการเกิดมาเป็นมนุษย์เป็นของยาก ชีวิตมนุษย์ประเสริฐที่สุด เราทุกคนเป็นผู้โชคดีที่รู้ว่า ชีวิตเกิดมาสร้างบารมี เมื่อโอกาสแห่งการสร้างบารมีมาถึง เราก็ต้องรีบสร้างบารมีให้สุดกำลังความสามารถ ให้ทุ่มเทชีวิตจิตใจกันให้เต็มที่ อย่ามัวหลงใหลสนุกสนานเพลิดเพลินกับสิ่งที่ไม่เป็นสาระ แต่ให้ทำทุกวินาทีให้มีคุณค่าด้วยการสร้างบารมี ด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรม
เรื่องนรกสวรรค์ เราสามารถพิสูจน์ได้ด้วยตัวของเราเอง เมื่อเราเข้าถึงพระธรรมกาย พอเข้าถึงแล้วนี้ ธรรมจักขุ คือ ดวงตาธรรมที่เห็นได้รอบตัวทุกทิศทุกทางจะเกิดขึ้น ญาณทัสสนะก็จะเกิดขึ้น สิ่งนี้เป็นปัจจัตตัง เข้าถึงแล้วเราก็จะรู้ได้ด้วยตัวของตัวเอง และเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ จะหายสงสัยได้
เพราะฉะนั้น นี้คือเป้าหมายที่หลวงพ่ออยากให้ทุกคนในโลกได้เข้าถึงพระธรรมกาย เพราะพระธรรมกายเท่านั้นจะพิสูจน์สิ่งเหล่านี้ได้ แล้วความดีงามก็จะบังเกิดขึ้นกับโลก หิริโอตตัปปะก็จะบังเกิดขึ้น ความกลัวต่อบาป ความละอายต่อการทำบาป ทั้งที่ลับ ที่แจ้ง ก็กลัวผลแห่งบาปกรรมนั้น จะบังเกิดขึ้นในจิตใจ เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นมาก็จะคุ้มครองโลกนี้ให้อยู่เย็นเป็นสุข ดียิ่งกว่ากฎหมายบ้านเมืองเสียอีก นี่คือความตั้งใจของหลวงพ่อนะลูกนะ
คุณครูไม่ใหญ่
๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๒
19

การอธิษฐานจิตตั้งผังสำเร็จของชีวิต



เราตั้งจิตอธิษฐานอย่างไร
พลังบุญซึ่งเป็นกระแสบุญธาตุอันบริสุทธิ์
ก็จะส่งเอาไปใช้ให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้
ตามความปรารถนาของเรา
ถ้าเราตั้งความปรารถนาใหญ่  กำลังบุญก็จะต้องพอเหมาะพอสมกัน  เช่น ปรารถนาจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กำลังบุญก็ต้องเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ทั้ง ๓๐ ทัศ จึงจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้
ดังนั้น พระบรมโพธิสัตว์จึงไม่ได้ทำครั้งเดียว อธิษฐานครั้งเดียว แต่ทำนับครั้งไม่ถ้วน  นับชาติไม่ถ้วน  ซึ่งก็แล้วแต่ว่า สิ่งที่เราปรารถนานั้นมันเล็ก ปานกลาง หรือยิ่งใหญ่ขนาดไหน ที่จะพอเหมาะพอดีกัน เหมือนเรามีเงินนิดหน่อย แต่อยากจะไปซื้อบ้านใหญ่โต  รถเก๋งหรู ๆ  ก็ต้องพอเหมาะกับเงินที่เรามี  บุญก็เช่นเดียวกันจะต้องพอเหมาะกับสิ่งที่เราได้ตั้งความปรารถนาเอาไว้  เมื่อยังมีไม่พอก็ต้องค่อย ๆ สั่งสมกันไป
คุณครูไม่ใหญ่

๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
9

หลักในการอธิษฐานจิต



การอธิษฐานจิตเป็นสิ่งสำคัญ ทำบุญทุกครั้งต้องอธิษฐาน ก็มีหลักง่าย ๆ คือ เราต้องอธิษฐานเป้าหมายหลักก่อน คือ เป้าหมายเราจะขออานุภาพแห่งบุญนี้ให้เราได้บรรลุมรรคผลนิพพาน  ได้ไปสู่ที่สุดแห่งธรรม  เพื่อเราจะได้อยู่ในร่มเงาของพระพุทธศาสนา   ให้เราได้เข้าถึงธรรมตั้งแต่ยังเยาว์วัย  ให้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวอย่างสะดวกสบายอย่างง่ายดาย  ถูกต้องร่องรอยตรงไปตามความเป็นจริง 
อธิษฐานเป้าหมายหลักก่อน  แล้วต่อจากนั้นก็เป็นเครื่องเสริม  เช่น ให้เราสมบูรณ์ไปด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข พวกพ้องบริวาร ให้มีแต่คนดี ๆ สิ่งดี ๆ เข้ามาอยู่ใกล้ตัวเรา เป็นต้น  
แล้วรองลงมากว่านี้อีกก็เป็นบุญพิเศษ  เราจะอธิษฐานอย่างไร เราก็ว่ากันไป เช่น ให้หมดหนี้สิน เหลือกิน เหลือใช้ เหลือไว้สร้างบารมี ให้ได้สมบัติอัศจรรย์ทันใช้หรือให้หายเจ็บ หายป่วย หายไข้ หนักเป็นเบา เบาเป็นหาย ถ้าตายก็ให้ไปดี ไปสู่ดุสิตบุรีอย่างนี้ เป็นต้น
คุณครูไม่ใหญ่
๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
7

กรรมนิมิตก่อนตายนำไปสู่ปรโลก


กฎแห่งกรรมหรือ Law of Karma ตั้งอยู่ในหลักของเหตุและผล ใครประกอบเหตุเช่นไร ก็ย่อมได้รับผลเช่นนั้น
ผู้ใดทำกรรมดีอยู่เป็นนิจ เมื่อละจากโลกนี้ไป ผู้นั้นย่อมไปสู่สุคติโลกสวรรค์
ผู้ใดทำกรรมชั่วอยู่เป็นนิจ เมื่อละจากโลกนี้ไป ผู้นั้นย่อมไปสู่อบาย ทุคติ วินิบาต นรก เปรต อสูรกาย สัตว์เดรัจฉาน
ส่วนใครจะได้ไปสุคติหรือทุคตินั้น ขึ้นอยู่กับกรรมนิมิตก่อนตายเป็นหลัก ถ้าหากผู้ใดเห็นกรรมนิมิตหรือภาพยนตร์ส่วนตัวมาฉายให้เห็น เป็นฝ่ายกุศลกรรมหรือกรรมดีก่อนตาย จิตของผู้นั้นย่อมผ่องใส แล้วมีสุคติเป็นที่ไป
ส่วนผู้ใดเห็นกรรมนิมิตที่เป็นฝ่ายอกุศลกรรมหรือกรรมชั่วก่อนตาย จิตของผู้นั้นย่อมเศร้าหมอง มีทุคติเป็นที่ไป
บางคนกรรมนิมิตก่อนตายไม่ชัดเจน ถ้าเป็นกรณีนี้บุคคลนั้นจะถูกพาตัวมาที่ยมโลก เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาถึงผลบุญและผลบาปที่ตนเองเคยทำไว้ในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่
คุณครูไม่ใหญ่

6 เมษายน พ.ศ. 2553
5

สำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดทั้งหมด



 ในระหว่างที่เรายังมีชีวิตอยู่
เราจะดำเนินชีวิตอย่างไร
ให้ได้ประโยชน์สูงสุดของการมาเกิดเป็นมนุษย์ ?

ประโยชน์สูงสุดของชีวิต...คืออะไร
ก็ต้องดูจากผู้ที่บรรลุประโยชน์อันสูงสุด
คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย
ที่ท่านได้บรรลุประโยชน์อันสูงสุดของชีวิตในสังสารวัฏแล้ว
คือ สามารถดับทุกข์และหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะได้
นั่นคือประโยชน์อันสูงสุดของชีวิต

ส่วนการทำมาหากินเพื่อให้ได้ทรัพย์มา
หล่อเลี้ยงสังขาร และมาสร้างบารมีนั้นยังเป็นเรื่องรองลงมา
แม้จะมีความจำเป็นก็ตาม
แต่เรามีสิ่งเหล่านั้นก็เพื่อแสวงหาสิ่งที่ประเสริฐที่สุดในชีวิต

คุณครูไม่ใหญ่
๑๘  มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒



15

วัดพระธรรมกาย...ไม่ใช่นิกายใหม่!



วาทกรรม คือ ถ้อยคำที่พูดซ้ำ ๆ บ่อย ๆ
ไม่ว่าดีหรือชั่วก็ตาม  จริงหรือโกหกก็ตาม
พูดบ่อย ๆ จนคนเชื่อว่า “เป็นความจริง”
ครูไม่ใหญ่เจอวาทกรรมเรื่อยเลย สมัยก่อนตอนสร้างวัดใหม่ ๆ มีคนไปให้ข้อมูลสื่อ แล้วก็คุยต่อ ๆ กันว่า ใต้ถุนโบสถ์มีอาวุธ  ตอนแรกก็เหมือนพูดเล่นสนุก ๆ  แต่พอกระทุ้งกันไปเรื่อย ๆ ก็มีคนเชื่อนะ
ในยุคนั้น ใครมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี จะต้องแวะเวียนมาเยี่ยมวัดพระธรรมกาย  โดยมีวัตถุประสงค์จะไปดูใต้ถุนโบสถ์  ต้องมุดลงไปดู ลำบากทีเดียว ปรากฏว่าไม่มีอาวุธ  พอหมดวาระ คนใหม่มารับตำแหน่ง ก็มาดูอีกแล้ว หรือท่านนายอำเภอคลองหลวงก็มาเยี่ยมเยียนใต้ถุนโบสถ์ รู้สึกว่าที่นั่นเป็นที่รับแขกอย่างดีทีเดียว
หมดยุคนั้น ก็มายุคคอมมิวนิสต์  เขาก็แต่งตั้งให้เป็นคอมมิวนิสต์อีกแล้ว
ต่อมาว่า วัดพระธรรมกายเป็นนิกายใหม่ ตอกย้ำซ้ำเดิมไปเรื่อย ๆ   เป็นนิกายใหม่ ๆ เพราะสอนเรื่องธรรมกาย คือ มีมหานิกาย  และ ธรรมยุติกนิกาย  แล้วมี ธรรมกาย  แถมวัดชื่อวัดพระธรรมกาย มีคำว่า กาย อยู่ข้างหลัง เพราะฉะนั้นต้องเป็นนิกายใหม่
ตอนแรกใหม่ ๆ ครูไม่ใหญ่ขำนะ  ตอนหลัง  เอ๊ะ !   นี่เล่นเอาจริงแล้วนะ  ไม่ว่าเราจะยืนยันซ้ำไปแค่ไหน แต่เรายืนยันวาทกรรมน้อยกว่าเขา  เขากระทุ้งกันเรื่อย ๆ เลย 
ก็ได้ยืนยันเป็นช่วง ๆ นาน ๆ สักครั้งหนึ่งว่า พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี  (สด จนฺทสโร)  ท่านอยู่ในมหานิกาย นิกายดั้งเดิม ซึ่งแต่เดิมมีนิกายเดียว  แล้วมาเปลี่ยนตอนไหน ที่มาแยกเป็น ๒ นิกาย อันนี้ครูไม่ใหญ่ไม่มีความรู้  ก็ไปแสวงหาความรู้เอา
แล้วต่อมา ครูไม่ใหญ่ก็บวชที่วัดปากน้ำ สมเด็จพระอุปัชฌาย์ท่านก็มหานิกาย  พ่อเป็นมหานิกาย  ลูกก็มหานิกาย  มันจะนิกายใหม่ตรงไหน  ยังนึกไม่ออก   แต่เชื่อไหมวาทกรรมนี้คนเชื่อว่าเป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้น วัดพระธรรมกาย ไม่ใช่นิกายใหม่ แต่เป็นพุทธ มหานิกาย  แล้วจริง ๆ ไม่อยากให้แยกนิกาย อยากให้รวมกัน แล้วไปศึกษาค้นคว้าความรู้ดั้งเดิมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อชาวโลกอย่างแท้จริง

๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖

คุณครูไม่ใหญ่

ประมวลภาพกองทัพนักข่าวมาชมโบสถ์ (23 มิถุนายน พ.ศ.2559)












27

ป้าย...วันนี้วันพระ


วันนี้หลวงพ่อขอพูดเรื่องป้าย “พรุ่งนี้วันพระ” กับ “วันนี้วันพระ” ป้ายจะมี ๒ ด้าน ด้านหนึ่งเขียนไว้ว่า “พรุ่งนี้วันพระ” อีกด้านหนึ่งเขียนว่า “วันนี้วันพระ ทำใจให้เข้าถึงพระในตัว”  ป้ายนี้จะเป็นแสงสว่างให้กับทุกคนที่เขาได้มาพบเห็น
มีหลวงปู่รูปหนึ่งอายุ ๘๐ ปีเศษ พอท่านได้เห็นป้าย “วันนี้วันพระ” ที่ต่างจังหวัด ท่านบอกว่า  ปีติจนน้ำตาไหล
วันพระเมื่อก่อน ๔๐ ปีที่ผ่านมา ตอนที่ท่านอายุ ๒๐ ถึง ๔๐ ปี ชาวพุทธยังให้ความสนใจเรื่องวันพระกันอยู่ วัดวาอารามคึกคักไปด้วยพุทธศาสนิกชนมาบำเพ็ญบุญ มาฟังธรรม จำศีลทำภาวนากัน  แต่ ๔๐ ปีหลังนี้ท่านบอกว่า ไม่เคยเห็นเลย ท่านก็รู้สึกเสียดายว่าภาพเก่า ๆ ที่ดีงามนั้นจะสูญหายไปจากเมืองไทยซึ่งเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาของโลก หมายถึงว่าจะสูญไปจากชาวโลก และสูญไปจากโลกใบนี้ด้วย พอท่านเห็นป้ายนี้กลับมาใหม่ถึงกับน้ำตาไหล ท่านบอกว่าในบั้นปลายชีวิตของท่านก่อนจะมรณภาพได้ชื่นใจเห็นป้ายนี้ก็คุ้มแล้ว   นี่ก็เป็นคำรำพึงของพระผู้เฒ่า ผู้รู้ราตรีนานผ่านโลกมามากได้รำพึงออกมา

ลูกทุกคนเกิดมาต้องช่วยกัน
ปฏิวัติพัฒนาโลกที่มืดมัวให้ใสขึ้น
ให้เป็นโลกแก้วให้ได้
สิ่งใดก็ตามที่ทำให้โลกใสเป็นแก้วได้ สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ลูกทุกคนต้องมีจิตสำนึกในการที่จะร่วมมือร่วมใจกันทำให้ได้ในยุคของเรา  เราเป็นนักสร้างบารมีต้องไวต่อการสร้างบารมี เห็นอะไรที่เป็นทางมาแห่งบุญก็รีบฉกฉวย ก่อนจะถูกช่วงชิงชีวิตไป เราจึงควรชิงช่วงชีวิตตอนนี้มาสร้างบารมี
หลวงพ่ออยากให้ป้ายนี้อยู่หน้าบ้านของลูกผู้มีบุญทุกคน เพื่อที่จะแจ้งให้ชาวพุทธที่หลงลืมสิ่งที่ดีงามนี้ ได้หวนย้อนกลับคืนมาถึงในวันที่โลกยังใสอยู่ เพราะฉะนั้นนำป้ายไปติดที่หน้าบ้าน ๒ วัน ก่อนวันพระวันหนึ่ง และวันพระวันหนึ่ง
หลวงพ่อคิดว่า ใครได้เห็นป้ายนี้แล้ว จะเกิดแรงบันดาลใจในการที่จะระลึกนึกถึงพระรัตนตรัย เมื่อใดที่สิ่งเหล่านี้ย้อนคืนกลับมาสู่ในใจของชาวพุทธอีก วันที่สดใสก็จะกลับคืนมา ลูกหลานของเราจะได้รับประโยชน์ และจะเป็นทางมาแห่งบุญของพวกเราด้วย ในฐานะที่เป็นผู้ให้แสงสว่างแก่โลก
คุณครูไม่ใหญ่

อาทิตย์ที่ ๖  ตุลาคม  .. ๒๕๔๕
11

เราปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร



เราปฏิบัติธรรมเพื่อ...
ทำความบริสุทธิ์บริบูรณ์แห่งการประพฤติพรหมจรรย์
เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง
สลัดตนให้พ้นจากกองทุกข์

ไม่ใช่...เพื่ออยากเด่นอยากดัง  อยากให้คนเขาชื่นชม 
อยากได้ลาภสักการะ  สิ่งเหล่านั้นเป็นมลทินของใจ 
หากเกิดขึ้นเมื่อใด ใจจะหยาบ  ใจจะไม่ละเอียด 
ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของการปฏิบัติธรรม

หมั่นตอกย้ำกับตนเองว่า  
ที่เราตัดสินใจทิ้งทุกสิ่งทางโลกมา...
ก็เพื่อมาแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุด  ซึ่งมีอยู่ภายในตัว 
ตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ พระผู้ปราบมาร

คุณครูไม่ใหญ่

29  พฤษภาคม  พ.ศ. 2551
11

กรณียกิจแห่งชีวิต



การปฏิบัติธรรม 
คือ กรณียกิจที่แท้จริง
ของการเกิดมาเป็นมนุษย์  
เป็นเป้าหมายของชีวิต  

เป็นกิจที่ควรทำอย่างยิ่งของมนุษย์ทั้งหลาย เป็นงานขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป  เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง  เป็นงานที่ทำให้เราได้รู้จักตัวเรา  และแผนผังชีวิตของเรา

การปฏิบัติธรรมควรทำทุกวัน ควบคู่ไปกับการทำมาหากิน หรือปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ ให้ภารกิจกับจิตใจไปด้วยกัน  การประกอบธุรกิจการงานก็เพื่อต้องการแสวงหาทรัพย์มาเลี้ยงสังขาร  และมาสร้างบารมี เราก็ทำไป แต่เราต้องรู้จักหลักของชีวิต และทำความเข้าใจว่า อะไรเป็นกรณียกิจ อะไรเป็น อกรณียกิจ แล้วให้ความสำคัญกับกรณียกิจให้มากๆ เพราะสิ่งนี้คือเป้าหมายชีวิตในการเกิดมาเป็นมนุษย์ในแต่ละภพชาติ

มนุษย์ส่วนใหญ่มักจะแสวงหาสิ่งไร้สาระ
นำติดตัวไปในภพเบื้องหน้าไม่ได้ 
แต่สิ่งที่เป็นสาระ  เป็นแก่นสารของชีวิต  นำติดตัวไปได้  
เรากลับไม่ให้ความสำคัญ  
ที่เป็นอย่างนี้เพราะ...บางคนไม่รู้  บางคนถึงรู้ แต่ไม่ทำ  

พราะฉะนั้น เราจะต้องให้ความสำคัญในการทำใจหยุดนิ่งให้เข้าถึงสิ่งที่มีจริงอยู่ภายใน

ตลอดเส้นทางสายกลางที่จะไปสู่ที่สุดแห่งธรรม  เป็นเส้นทางแห่งความสุขตลอดเส้นทาง ไม่มีเส้นทางไหนที่จะให้ความสุขเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ เท่ากับเส้นทางสายกลางนี้ ความสุขจะบังเกิดขึ้นทุกขั้นตอนของการเข้าถึง  ตั้งแต่สุขน้อย ๆ เพิ่มขึ้นไปเป็นสุขปานกลาง  จนกระทั่งถึงสุขอย่างยิ่ง

คุณครูไม่ใหญ่

อาทิตย์ที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๔
4

อานุภาพการเจริญพุทธานุสติ



การเจริญพุทธานุสติ คือ
การระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์
เป็นสิ่งที่มีอานิสงส์ใหญ่
จะปิดประตูอบายภูมิ  ทำให้ไม่ต้องไปเกิดในนรก
ไม่ต้องไปเป็นเปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน
แม้ในปัจจุบัน  ถ้าเข้าถึงได้  หรือเพียงแต่นึกได้ตลอดเวลา
ก็ทำให้เรามีความสุข สดชื่น เบิกบานทันทีที่ระลึกถึง

 เมื่อระลึกจนเป็นชีวิตจิตใจ ทุกลมหายใจเข้าออก จนกระทั่งท่านมาปรากฏอยู่ในกลางใจเรา เห็นองค์พระได้ใสแจ่มตลอดเวลาแล้ว ย่อมมีอานุภาพยิ่งใหญ่ไม่มีประมาณ ใจเราจะผ่องใสเกลี้ยงเกลาตลอดเวลา  กระแสกรรมที่ทำมาในอดีตจะตามไม่ทัน  แม้ยังไม่หมดก็ตาม เหมือนเราขี่จรวดหรือนั่งเครื่องบินแต่กรรมนั้นขี่จักรยานหรือเดินด้วยเท้า  เพราะเมื่อจิตผ่องใสไม่เศร้าหมอง ก็มีสุคติเป็นที่ไป  หลังจากละโลกไปแล้ว  เราจะมีกายใหม่เป็นกายทิพย์ที่สวยงาม  มีรัศมีสว่างไสว  มีสมบัติอันเป็นทิพย์  มีวิมานและบริวารเกิดขึ้นมากมาย

กระแสบุญแห่งการระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้มิใช่สิ่งเล็กน้อย  จะส่งต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ เหมือนระลอกคลื่นที่ส่งต่อกันไปลูกแล้วลูกเล่า   เราจะไปเป็นสหายแห่งเทวดาเป็นเวลายาวนาน  และเมื่อถึงคราวที่ต้องมาเกิดในมนุษย์  ก็จะเกิดในตระกูลที่ดี  มีโภคทรัพย์สมบัติเพียบพร้อม รอคอยให้เราได้ใช้สร้างบารมี  และนำเราเข้าไปถึงกระแสธรรมได้ในที่สุด

ดังนั้น  ให้ตั้งใจเจริญพุทธานุสติ  นึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์  โดยนึกถึงพระแก้วขาวใสบริสุทธิ์เป็นสิ่งแทนตัวพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ทำใจให้ใสเยือกเย็น  นิ่ง หยุด  ให้ถูกส่วน  ประสานใจของเรากับพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เป็นหนึ่งเดียวกัน  ให้ในใจเรามีแต่พระพุทธเจ้าตลอดเวลา  แล้วไม่นานสิ่งอัศจรรย์ก็จะเกิดขึ้นกับตัวของเรา .

คุณครูไม่ใหญ่

วันอาทิตย์ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๐
15

ภารกิจกับจิตใจต้องไปด้วยกัน





ต้องบริหารเวลาให้เป็น
จัดสรรเวลาให้ลงตัว
ให้มีเวลาว่างสำหรับแสวงหา
หนทางพระนิพพานของตนเองให้ได้
อย่างน้อยวันละชั่วโมงหรือสองชั่วโมงก็ยังดี

ส่วนเวลาอื่นที่เรามีภารกิจประจำวันที่ต้องทำ  ก็พยายามฝึกฝนทำควบคู่กับภารกิจนั้นไป เพราะภารกิจกับจิตใจต้องไปด้วยกัน ใครทำสองอย่างนี้ไปพร้อมๆ กันได้  ถึงจะเรียกว่า  บริหารเวลาเป็น  มีความตั้งใจที่จะทำความปรารถนาของเราให้สมหวัง ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้สืบอายุพระพุทธศาสนา  เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศแก่มนุษย์และเทวา  มีความรักพระนิพพาน  รักเพศบรรพชิตอย่างแท้จริง

ภารกิจกับจิตใจควรจะไปด้วยกัน  ไม่ควรเป็นสิ่งที่แย้งกัน  หรือเป็นข้ออ้างว่า  เราต้องบริหารกิจการงานสงฆ์  จะต้องเรียนหนังสือ  หรือจะต้องทำภารกิจที่หมู่คณะมอบหมายให้  เลยทำให้ไม่มีเวลา  หรือบางคนอ้างว่า  สุขภาพไม่แข็งแรง  ยังเจ็บ  ยังป่วย  ยังไข้  คอยให้หายป่วยแล้วค่อยแสวงหาหนทางพระนิพพานทำอย่างนี้ไม่ถูกนะ  เพราะเรามีเวลาของชีวิตที่จำกัดเหลือเกิน

คุณครูไม่ใหญ่
๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๓


0

Facebook