หน้าที่แห่งชีวิต


               
                การฝึกใจให้หยุดนิ่งเป็นหน้าที่อันยิ่งใหญ่สำหรับชีวิต  เพราะเป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่จะขจัดความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องราวในชีวิตของเราให้หมดสิ้นไปได้ และเป็นวิธีเดียวที่พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ทรงปฏิบัติกันมา
                พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเวียนว่ายตายเกิดสร้างบารมีมาเป็นเวลายาวนาน  โดยมีวัตถุประสงค์จะแสวงหาหนทางพ้นทุกข์  เพื่อจะดับทุกข์  แล้วพบสุขอันเป็นอมตะ  พระองค์ทรงแสวงหามาตลอดระยะเวลาที่มาเกิดในโลกมนุษย์  เพราะทรงค้นพบว่า ไม่ว่าจะไปเกิดเป็นอะไรก็ตาม  ชีวิตล้วนแต่มีทุกข์ทั้งนั้น
                ครั้งเมื่อเป็นพระบรมโพธิสัตว์  บางพระชาติเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน  บางชาติเกิดเป็นชนชั้นต่ำ  เป็นชนชั้นกลาง  ชนชั้นสูง  เศรษฐี  มหาเศรษฐี  ก็เคยเป็นมาแล้วหรือแม้เกิดเป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินก็เคยเป็นมาแล้วทั้งนั้น  และทรงเห็นว่าชีวิตอย่างนั้น ยังไม่พ้นทุกข์  ต่างมีทุกข์กันไปคนละแบบ 
                ทุกข์ของยาจกเป็นทุกข์เพราะไม่มี  ทุกข์ของเศรษฐีเป็นทุกข์เพราะไม่พอ  ทำให้เกิดการแก่งแย่งชิงดี  ทั้งทรัพย์สินเงินทอง ลาภ ยศ สรรเสริญ  วนเวียนกันอยู่อย่างนี้  จึงเป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา
                นอกจากทุกข์ประจำสังขาร คือ เกิดแก่เจ็บตาย แล้วยังมีทุกข์ที่จรมาเหมือนอาคันตุกะจรมาอีก ต้องวุ่นวายตั้งแต่เกิด ดำรงชีพอยู่ จนกระทั่งตายไป เป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลาเลย เมื่อเห็นอย่างนี้พระองค์จึงแสวงหาหนทางที่จะพ้นจากทุกข์ แล้วก็ทรงพบว่าวิธีเดียวเท่านั้นที่จะทำลายความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องชีวิตของพระองค์ได้ ก็คือ จะต้องรู้แจ้งเห็นจริงในเรื่องราวของชีวิต ซึ่งต้องเป็นความรู้ที่เกิดจากการเห็นแจ้งเท่านั้น
                การที่จะเห็นแจ้งได้นั้น ต้องอาศัยแสงสว่างในดวงจิต เป็นความสว่างที่ยิ่งกว่าดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว หรือความสว่างใด ๆ ในโลกทั้งหมด ที่ไม่มีสิ่งใดกำบังได้ แสงสว่างแห่งดวงจิตจะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อจิตบริสุทธิ์บริบูรณ์จริง ๆ ไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง อยู่เลย พูดง่าย ๆ คือ ใจต้องใสบริสุทธิ์ ผุดผ่องจริง ๆ ความสว่างจึงจะเกิดขึ้น
                ความบริสุทธิ์จะมีมาได้ ทั้งจากการทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา แต่โดยรวบยอดแล้ว ใจต้องหยุดนิ่ง  ต้องพรากจากทุกสิ่ง ปล่อยวางหมด หยุดนิ่งอยู่ภายในศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นแกนกลางของกาย แก่นของชีวิตและเป็นทางเอกสายเดียวที่จะนำไปสู่มรรคผลนิพพาน
                หากเราได้ศึกษาพระพุทธประวัติ  จะเห็นว่าทุกชาติ พระบรมโพธิสัตว์จะต้องปลีกตัวออกมาแสวงหาที่สงัดกาย สงัดใจ ฝึกทำสมาธิ ทำใจให้หยุดให้นิ่ง จนกระทั่งหมดอายุขัย  เมื่อละโลกแล้วบางชาติไปเป็นเทวดา  บางชาติเป็นพรหมอยู่นานทีเดียว  แล้วก็ต้องมาเกิดใหม่มาทำใจหยุดใจนิ่ง กลั่นใจ ให้บริสุทธิ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก
                จนกระทั่งภพชาติสุดท้ายเมื่อบารมีเต็มเปี่ยมก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  มีธรรมจักษุ  มีญาณทัสสนะเกิดขึ้น  หายสงสัยเกี่ยวกับความเป็นไปของชีวิต
                เพระฉะนั้น การปฏิบัติธรรม คือการทำจิตให้บริสุทธิ์ เพื่อให้เกิดธรรมจักษุ และญาณทัสสนะที่จะทำลายความสงสัยทั้งหลายที่มีอยู่นี้ เป็นสิ่งที่สำคัญและยิ่งใหญ่กว่าสิ่งอื่นใดทั้งหมด เพราะนี่คือหัวใจของนักสร้างบารมี ที่มีเป้าหมายจะไปให้ถึงพระนิพพาน

คุณครูไม่ใหญ่

วันอาทิตย์ที่ ๕ กรกฏาคม พ.ศ.๒๕๔๑

15 ความคิดเห็น:

  1. เป็นคำสอนที่เข้าใจได้อย่างชัดเจน เป็นขั้น เป็นตอน และวิธีทำสมาธิให้ใจหยุดใจนิ่งสามารถปฏิบัติตามได้ในชีวิตจริงของสาธุชน แม้จะดูง่าย ๆ แต่ทำตามแล้วสามารถทำให้เราสัมผัสเองได้ ถึงความเกลี้ยงเกลาของใจ ที่เมื่อปฏิบัติแล้วใจจะใสขึ้น ๆ ค่ะ กราบอนุโมทนา
    สาธุ ๆ เจ้าค่ะ

    ตอบลบ
  2. เกิดมาชาตินี้ขอให้เข้าถึงธรรมะภายในด้วยเถิด..สาธุ

    ตอบลบ
  3. เราจะขจัดกิเลสได้ ด้วยการนั่งสมาธิ ฝึกหยุดใจที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 เท่านั้น

    ตอบลบ
  4. อนุโมทนาสาธุเจ้าค่ะ

    ตอบลบ
  5. อนุโมทนาสาธุเเจ้าค่ะ ขอน้อมบูชาพระพ่อตามติดติดตามทุกภพชาติไปสาธุเจ้าค่ะ

    ตอบลบ

Facebook