สรรเสริญพระพุทธคุณ


 

การสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้างดงามทั้งเบื้องต้น  ท่ามกลางและเบื้องปลาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นต้นแบบที่สมบูรณ์ที่สุดของมนุษย์และเทวดาทั้งหลายตลอดทั่วทั้งภพสาม 
การบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า   ย่อมยังตลอดภพสามให้สว่างไสว  ดับความเร่าร้อนของกิเลส  ทำให้สรรพสัตว์ทั้งหลายมีหนทางพ้นจากทุกข์ภัยในวัฏสงสาร 
การแสดงธรรมของพระองค์ เสมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด หรือบอกหนทางแก่คนหลงทาง  ประดุจส่องประทีปในที่มืด เพื่อให้คนที่มีตาดีได้มองเห็น
พระองค์ทรงเป็นผู้ห่างไกลจากกิเลส  หรือพ้นจากกิเลสแล้ว  เพราะทรงกำจัดเสียซึ่งกิเลสทั้งหลาย 
พระองค์บริสุทธิ์ผุดผ่องประดุจแท่งทองชมพูนุช หรืออีกนัยหนึ่งว่าใสประดุจดวงแก้ว  อันประมาณค่ามิได้
เป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ  หมายถึงทั้งรู้ ทั้งเห็นอย่างถูกต้อง  โดยอาศัยธรรมจักษุและญาณทัศนะ ซึ่งสิ่งทั้งหลายที่พระองค์รู้เห็นนั้นก็ตรงไปตามความเป็นจริง  ไม่ใช่ว่าคาดคะเนหรือว่าอนุมานเอา 
พระองค์ทรงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ หมายถึงรู้สิ่งที่กำจัดความมืดคืออวิชชา และทรงมีศีลาจารวัตรที่งดงาม
สุคโต ทรงเป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว หมายถึง เสด็จไปสู่พระนิพพาน และเมื่อพระพุทธองค์ผู้ประพฤติดีทั้งกาย วาจา ใจ อย่างสม่ำเสมอมานับภพนับชาติไม่ถ้วน  เมื่อเสด็จไปถึงที่ใด  ย่อมยังสรรพสัตว์ทั้งหลายให้เกิดความชุ่มเย็นด้วยพระบุญญาบารมีของพระองค์ 
คำว่า สุคโต ใช้กับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะพระองค์เสด็จไปดีอย่างถาวร ซึ่งแตกต่างจากมนุษย์จะใช้คำว่า สุคติ  คือ ไปดีแบบชั่วคราว  เพราะยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร
ทรงรู้แจ้งโลก  หมายถึง ทรงรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในภพสาม นอกภพก็รู้ นิพพาน ภพสาม โลกกันตร์  รู้หมดเลย  ทั้งรู้ทั้งเห็นด้วยสัพพัญญุตญาณ  ด้วยธรรมจักษุและด้วยญาณทัศนะ  แทงตลอดทั้งขันธโลก สัตวโลก โอกาสโลก  แทงตลอดหมดเลยตั้งแต่จิตใจมนุษย์ ขันธ์  ๕  สิ่งแวดล้อมออกไป  ประกอบเหตุอย่างนี้จะไปเป็นผลอย่างไร  เจอผลอย่างนี้มาจากประกอบเหตุอย่างไร  เรื่องเหตุเรื่องผลพระองค์แทงตลอดหมด  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวอะไรก็ตาม พระองค์ทรงรู้เห็นหมดทุกเรื่องที่ปรารถนาจะรู้ด้วยสัพพัญญุตญาณ 
บางท่านมีคำถามว่า พระองค์สร้างจรวดได้ไหม แค่ไปส่องดูก็รู้แล้ว ทั้งรู้ทั้งเห็นถึงวิธีการอะไรทุกอย่างหมด แต่ความรู้นี้ไม่เกิดประโยชน์  จะไปถึงไหนกิเลสตัวเดิมก็ยังติดตัวไป เพราะฉะนั้นพระองค์รู้แต่ไม่ทำแล้วก็ไม่สอนใครด้วย  เพราะมันไม่เกิดประโยชน์  ไม่ใช่หนทางดับทุกข์
พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเสมือนสารถีผู้ฝึกสอนคนเป็นอย่างดี  จะหาผู้อื่นเสมอเหมือนมิได้  ครูบาอาจารย์ตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ สอนยังติดอยู่ในภพ สอนแต่เรื่องวิชาชีพ  แต่พระองค์สอนวิชชาชีวิตให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้  หลุดจากกิเลสอาสวะได้  พ้นจากสังสารวัฏได้  ซึ่งไม่มีใครสอนได้อย่างพระองค์  เพราะทรงทราบว่าชีวิตในสังสารวัฏขึ้นอยู่กับบุญและบาปเท่านั้น  ถ้ายังไม่พ้นตรงนี้ก็ยังตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม 
ทรงเป็นพระบรมครูของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย  ก็ยังไม่เคยเห็นศาสดาใดเป็นครูของเทวดา มีแต่อ้อนวอนเทวดา มีแต่มีเทวดาเป็นครู  แต่พระองค์ทรงสอนมนุษย์และเทวดา  ตลอดกระทั่งถึงพรหม  โดยการแสดงธรรมสั่งสอน  ให้กับพุทธบริษัททั้ง  ๔ แล้วก็แก้ปัญหาให้กับเหล่าเทวดาในยามเที่ยงคืนทุกวัน 
คำว่า เทวดา ในที่นี้ไม่ใช่หมายถึง สมมุติเทวดาคือพระราชาหรือผู้ปกครองประเทศเท่านั้น หากแต่หมายถึงเทวดาจริง ๆ  ที่มีรัศมีโอภาส เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นต่าง ๆ  มายืนอยู่  ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง  เพื่อมาซักถามปัญหาพระองค์ เพราะเทวดาก็ใช่ว่าจะรู้เรื่องราวไปทั้งหมด เพราะเทวดาก็คืออดีตมนุษย์  แล้วก็ยังมีกิเลสอาสวะอยู่ คือยังมีเครื่องบดบังดวงตา การเห็นแจ้งและรู้แจ้ง เพราะทิพยจักษุจะไปแทงตลอดในธรรมทั้งปวงไม่ได้ต้องธรรมจักษุ 
ทรงเป็นผู้เบิกบานเปรียบดอกปทุมชาติ  ที่เปรียบกับดอกปทุมชาติ  เพราะมนุษย์เคยเห็นแค่ดอกปทุมชาติ ถ้าอุปมาอย่างนี้เขาเห็นชัด  แต่ถ้าบอกเบิกบานเหมือนดอกไม้บนสวรรค์มนุษย์ไม่เห็นก็จะไม่เข้าใจ เนื่องจากพระพุทธองค์ทรงสมความปรารถนาที่ทรงตั้งปณิธาน  บำเพ็ญบารมีมานับภพนับชาติไม่ถ้วน  เพื่อที่จะได้มาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 
ทรงเป็นผู้จำแนกธรรมทั้งหลาย  คือ กำหนดหัวข้อธรรมเป็นหัวข้อเรียงไปตามลำดับซึ่งไม่ใช่ง่าย เช่น สูตรแห่งความสำเร็จมี  ๔ ประการ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา  ทำไมพระองค์จำแนกได้  เพราะพระองค์ไปเห็นมาด้วยภาวนามยปัญญา เห็นเรียงเป็นข้อ ๆ และจะต้องเริ่มต้นด้วยฉันทะ มีใจรักที่จะทำพระนิพพานให้แจ้ง แล้ว  วิริยะ  ทำความเพียร  จิตตะ ใจต้องจดจ่อ วิมังสา หมั่นสังเกตพิจารณาดูว่า มีข้อบกพร่องอย่างไร แล้วก็จะพบวิธีแห่งการแก้ไขแล้วพบช่องทางแห่งความสำเร็จ 
จะมีเป็นข้อ ๆ นะ  ๑. ฉันทะ  ๒. วิริยะ ๓.จิตตะ ๔ วิมังสา  จะเป็นดวงธรรมอยู่ในดวงธรรม ในแต่ละดวงมีลักษณะไม่เหมือนกัน  ฉันทะดวงหนึ่ง วิริยะดวงหนึ่ง จิตตะดวงหนึ่ง  วิมังสาอีกดวงหนึ่ง  พอเข้าไปถึงดวงฉันทะ จะรู้เลยว่า รสชาติฉันทะเป็นอย่างนี้ มีลักษณะอย่างนี้ มีคุณสมบัติอย่างนี้  เข้าไปในดวงที่ ๒ วิริยะ มีรสชาติอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ จนครบ ๔ ดวง ไม่มีดวงที่  ๕ ,,๗   นี่คือ จำแนกธรรม ไม่อย่างนั้นจะเรียกจำแนกธรรมได้อย่างไร 
ไม่มีนักคิดคนใดในโลกคิดเรื่องราวเหล่านี้ได้  คิดไม่ออกคิดแล้วกะโหลกบานสติเฟื่อง แต่นักคิดทั้งหลายมักจะคิดว่า พระองค์ทรงเป็นนักคิดคนหนึ่งที่คิดขึ้นมาเป็นข้อ ๆ แต่ความจริงแล้วความรู้นี้ไม่ได้เกิดจากการคิด  แต่เป็นความรู้ที่เกิดจากการเห็น พระองค์ไปเห็น พอเห็นแจ้งก็รู้แจ้งในทันทีว่ามีลักษณะเป็นอย่างนี้ ๆ แล้วก็เห็นเป็นเรื่องราวว่า ใครที่รู้สูตรนี้  ประสบความสำเร็จอย่างไรทั้งทางโลกและทางธรรม พระองค์เห็นภาพเป็นเรื่องราว  เพราะฉะนั้นทรงเป็นผู้จำแนกธรรมทั้งหลายให้เห็นชัด  และนำมาเปิดเผยมาเล่าให้ฟัง ทำให้สาวกได้รู้เห็นและรับปฏิบัติสืบต่อ  ๆ กันมา
ทรงประกาศพรหมจรรย์  คือแบบแห่งการประพฤติอันประเสริฐ บริสุทธิ์  บริบูรณ์  ไพเราะทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และในที่สุด  คือข้อวัตรปฏิบัติในการที่จะป็นผู้บริสุทธิ์ กาย วาจา ใจ  ทำอย่างไร จุลศีลเป็นอย่างไร   มัชชิมศีลเป็นอย่างไร  มหาศีลเป็นอย่างไร  หรืออธิศีลเป็นอย่างไร
ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ที่จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ภัยในวัฏสงสาร 
ทรงยังสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ดำรงอยู่ในอริยภูมิอันประเสริฐ  คือสอนให้ทุกคนเข้าถึงอริยภูมิ ภูมิแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 
ทรงเป็นที่พึ่งอันเกษมอย่างสูงสุดของสรรพสัตว์ทั้งหลาย  เป็นที่พึ่งคือทรงแนะนำสั่งสอน และนำคือทรงทำให้ดู  และก็ยังเป็นแหล่งแห่งบุญที่พึ่งต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย และแม้พระองค์ดับขันธปรินิพพานไปแล้วก็ยังเป็นที่พึ่ง  แค่ระลึกนึกถึงพระองค์ท่านด้วยพุทธานุสติก็ปิดประตูอบายภูมิ  เปิดประตูสวรรค์ 
ทรงขับไล่อวิชชา คือความไม่รู้ ให้ออกไปจากขันธสันดานของสรรพสัตว์ทั้งหลาย  คือเมื่อ มวลมนุษย์ชาติได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ก็จะขับความไม่รู้ที่อยู่ในใจของมวลมนุษยชาติให้หมดสิ้นไป  เปลี่ยนมาเป็นความรู้แทน
ทรงเป็นผู้รู้เรื่องราวความเป็นจริงของโลกและชีวิตอย่างแจ้มแจ้งแทงตลอด ถึงแม้จะเสด็จดับขันธปรินิพพานนานมาได้  ๒๕๔๗ ปี  แล้วก็ตาม  ถึงกระนั้นพระพุทธคุณอันไม่มีประมาณ ก็ไม่ได้เลือนหายไปจากใจของเราชาวพุทธบริษัท ๔ เลย  เพราะฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่พุทธบริษัท ๔ ทั้งหลาย จะต้องหันกลับมาศึกษาพุทธประวัติอย่างจริงจัง จะได้มีจิตเลื่อมใสในพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นพระบรมครู ตั้งใจศึกษาฝึกฝนและปฏิบัติ แล้วก็จะได้มาเป็นพยานในการตรัสรู้ธรรมของพระองค์ เป็นแบบอย่างในการสร้างบารมีติดตามพระพุทธองค์ไปสู่พระนิพพาน อันเป็นเป้าหมายสูงสุดในการเกิดมาเป็นมนุษย์
คุณครูไม่ใหญ่
วันจันทร์ที่ ๕  เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗


3 ความคิดเห็น:

Facebook