ชีวิตสมณะ
เมื่อไม่รู้จะอ่านอะไร 1
๑. ชีวิตที่ดีที่สุด
หลวงพ่อขอยืนยันว่า ชีวิตพระเป็นชีวิตที่ดีที่สุด
เหมาะสมกับชาวโลกที่สุดเลย
เพราะเป็นชีวิตที่ปลอดกังวล
มีเวลาสำหรับแสวงหาความรู้ภายในที่เรายังไม่รู้อีกมากมาย
มีไว้สำหรับแสวงหาความสุข
ที่มีมากกว่าความสุขด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ อย่างที่มนุษย์เข้าใจ
๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔
๒. นิพพานเป็นเยี่ยม
ดูชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง
พระองค์ผ่านชีวิตทุกระดับมาแล้ว
แม้แต่การเกิดในอบายภูมิก็เคยเกิด ในสุคติภูมิก็เกิด
เป็นมนุษย์ก็เป็นมาทุกระดับ
ตั้งแต่พระเจ้าจักรพรรดิ เป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่
พระราชาธรรมดา พระราชาประเทศราช
มหาเศรษฐีผู้ยิ่งใหญ่ กระทั่งเป็นมหาเศรษฐีธรรมดา
ไล่เรื่อยมาถึงยาจก วณิพก เคยเป็นมาหมดแล้ว
ท่านก็สรุปชีวิตของท่านว่า
ไม่มีอะไรที่ยิ่งกว่าพระนิพพาน
ควรแสวงหานิพพานอันเป็นเยี่ยม
จึงได้สละทรัพย์ทุกอย่าง อวัยวะ แม้กระทั่งชีวิต
เพื่อที่จะให้เข้าถึงธรรมภายใน
เข้าถึงดวงธรรม เข้าถึงกายในกายภายใน
เข้าถึงความจริงของชีวิต
นี่เราดูท่านเป็นตัวอย่าง นะลูกนะ
๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๔
๓. อยู่อย่างมีเป้าหมาย
บวชมาแล้วต้องมีวัตถุประสงค์เดียวเป็นหลัก
คือ... ทำพระนิพพานให้แจ้ง
นอกนั้นก็เป็นเรื่องปลีกย่อยรองลงมา
สิ่งนี้ต้องอยู่ในใจของลูกทุกรูป
ถ้าไม่มีสิ่งนี้ บวชเป็นพระยาก นะลูกนะ
๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔
๔. พระวัดพระธรรมกาย ต้องเข้าถึงพระธรรมกาย
มาอยู่วัดพระธรรมกายแล้ว
อย่าให้มีแต่ชื่อ วัดพระธรรมกาย เท่านั้น
แต่ พระ ในวัดพระธรรมกาย ต้องเข้าถึงพระธรรมกาย
นี่คือ วัตถุประสงค์ของการสร้างวัดมาตั้งแต่ต้น ที่ว่า
สร้างวัดให้เป็นวัด สร้างพระให้เป็นพระ
และสร้างคนดีที่โลกต้องการ
๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔
๕. อย่าหายใจฟรี
มาอยู่กับหลวงพ่อแล้ว อย่าให้หายใจฟรี
ให้ได้อะไรกลับไปบ้าง ให้รู้เรื่องราวของเราไปบ้าง
หลวงพ่อพยายามหาวิธีที่จะบำรุงสังขาร ขันธ์ ๕ ของลูกทุกคน
อาหาร ปัจจัย ๔ สิ่งของจำเป็นต่าง ๆ
หวังเพียงให้ลูกทุกคนสนใจการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง
วันคืนล่วงไป ๆ จะได้ไม่สูญไปเปล่า นะลูกนะ
๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔
๖. อยู่กับ “พระ” ตลอดเวลา
เราเป็นพระ ให้คิดแบบพระ พูดแบบพระ และทำแบบพระ
ทำแค่ ๓ อย่างนี้เท่านั้น ไม่ต้องทำอะไรเยอะแยะมากมาย
เพียงแค่อย่าให้ใจเราออกนอกเส้นทาง
หรือไปคิดในเรื่องที่ไม่เป็นสาระ
ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด
หยุดนิ่ง ลิ้มรส เหยียดแขน คู้แขน กลับหน้า กลับหลัง
หรือจะทำภารกิจอันใดก็ตาม
อย่าทำตามลำพัง ให้มีเพื่อนอยู่เสมอ
หมายความว่า
ต้องมี “พระ” อยู่ในตัว เป็นเพื่อนคู่ใจอยู่ตลอดเวลา
ถ้าทำอย่างนี้ เดี๋ยวความรู้สึกว่าเป็น “พระ” จะเกิดขึ้นเอง
โดยที่เราไม่ต้องไปเคร่งครัด หรือสำรวมระวังอะไร
เพราะความรู้สึกของเราอยู่กับ “พระ” ตลอดเวลา
แล้วคุณสมบัติของ “พระ”
ก็จะถ่ายทอดมาเป็นคุณสมบัติของเรา
๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๙
๗. วิชชาในพระพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าทรงวางหลักสูตร
วิชชาที่พระภิกษุสามเณรควรเรียนรู้เอาไว้
คือ วิชชา ๓ วิชชา ๘ อภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทาญาณ ๔
เรียนแล้วต้องเหาะได้ ต้องมีตาทิพย์ หูทิพย์
ระลึกชาติได้ มีฤทธิ์ทางใจ
แม้เป็นสามเณรยังสามารถเหาะไปสระอโนดาต
ที่ยวดยานพาหนะอันใดไปไม่ถึง
แต่สามเณรสุมนในสมัยพุทธกาลใช้วิชชาไปถึงได้
นี่... ความรู้ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องการให้พระเณรเรียนอย่างนี้
๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๕
๘. เทวดาตามรักษา
เทวดาชอบพระแท้ คือ “พระที่เข้าถึงพระในตัว”
และจะคอยตามดูแลรักษา
แล้วสิ่งที่เป็นอจินไตยเหนือธรรมชาติก็จะเกิดขึ้น
ให้เราได้เห็นอยู่ตลอดเวลาด้วยเทวานุภาพ
เพราะเทวดารักเรา รัก “พระที่เข้าถึงพระ”
และที่สำคัญ คือเข้าถึงแล้วมีความสุข เป็นที่พึ่งแก่เราได้
๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔
๙. ทำบ่อย ๆ เดี๋ยวก็เคยชิน
ออกพรรษาแล้ว...
อย่าเลิกละการปฏิบัติธรรม ทำให้เป็นกิจวัตร
เหมือนเราตื่นมาแล้วต้องล้างหน้า แปรงฟัน
ขับถ่าย สรงน้ำสรงท่า ฉันภัตตาหาร
ทำให้เป็นกิจวัตร ทำบ่อย ๆ เดี๋ยวจะเกิดความเคยชิน
วันไหนที่ไม่ได้ทำก็จะรู้สึกว่า เอ๊ะ! มันขาดอะไรไป
๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น