นั่งมาตั้งนานทำไมไม่ได้ผลสัก

นั่งมาตั้งนานทำไมไม่ได้ผลสักที
ง่าย..แต่..ลึก 1




ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะ หลับตาเบา ๆ พอ
สบาย ๆ ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี กะคะเนให้เลือดลมในตัวเรา
เดินได้สะดวก จะได้ไม่ปวดไม่เมื่อยกัน จัดท่านั่งให้ถูกส่วน แล้วมัน
จะไม่ค่อยเมื่อย ขยับให้ดีทีเดียว ของใครของมันนะ ปรับให้ดี

แล้วก็เริ่มต้นอย่างง่าย ๆ หลับตาเบา ๆ พอสบาย ๆ ก็ให้สังเกตดู
หรือใช้เวลาสัก ๑ นาที สังเกตทั้งท่านั่ง ทั้งการหลับตา การวางมือของเราที่ซ้อนกัน มีส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเราเกร็งหรือตึงบ้างไหมให้สังเกตสักนาทีหนึ่งนะ เพราะทุกส่วนของร่างกายต้องผ่อนคลายจึงจะถูกหลักวิชชา ต้องผ่อนคลาย ใจต้องสบาย เบิกบาน

คำว่า “สบาย” ในที่นี้อาจจะยังไม่ถึงกับมีความสุขที่เกิดจาก
สมาธิ แต่รู้สึกว่ามันผ่อนคลาย ไม่สุขแต่ก็ไม่ทุกข์ ให้สังเกตนะ

สำหรับผู้ที่ทำมาตั้งนาน แต่ยังไม่ได้ผลสักทีก็ดี หรือเพิ่ง
มาใหม่ก็จะได้ฝึกกันไปพร้อม ๆ กัน มาปรับปรุงแก้ไขวิธีการตรงนี้

เรายอมที่จะเริ่มต้นใหม่ในทุก ๆ ครั้งนะ เพราะว่าถ้าทำถูกวิธีแล้ว
มันง่าย

สมาธิไม่ใช่ยากเกินไป มันอยู่ในระดับที่ทุกคน
สามารถทำได้ ยกเว้นคนมีความผิดปกติทางด้านจิตใจ
นั่นแหละ คนป่วยไม่มีแขน ไม่มีขา นอนป่วยอยู่ยัง
ทำได้ เรามีทุกอย่างพร้อมแต่เราทำไม่ได้ แปลว่า
เราคงยังทำไม่ถูกวิธี

เราต้องย้อนกลับมาเริ่มต้นใหม่ตรงนี้อย่างง่าย ๆ ยอมกลับ
มาสู่จุดเริ่มต้นในการฝึกใจให้หยุดนิ่งเพื่อให้ใจเป็นสมาธิใหม่นะ
เรายอมตรงนี้

ตอนนี้เราได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่เราต้องการนั้น ไม่ว่าจะเป็น
ความสุขที่แท้จริง แสงสว่างภายใน ดวงธรรม กายในกาย รวมถึง
พระธรรมกาย หรือพระรัตนตรัยมีอยู่ในตัวของเราหมด หนทาง
ที่จะไปสู่อายตนนิพพาน เพื่อการหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ดับทุกข์
ได้นั้นก็อยู่ในกลางตัวเรา นี่เราได้เรียนรู้กันมายาวนานกันแล้ว

แต่ทำไมเราจึงยังทำไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ตรงนี้เราก็ต้องย้อน
กลับมาศึกษาดูว่า เราได้ผ่อนคลายร่างกายและจิตใจครบถ้วนไหม
หรือสักแต่ว่านั่ง ๆ ไปอย่างนั้นเอง

อย่างหลวงพ่อบอกว่าให้ผ่อนคลาย ให้หลับตาเบา ๆ แต่เรา
หลับตาปี๋เลย ปิดสนิท ไปบีบเปลือกตา กดลูกนัยน์ตาลงไปเพื่อจะ

มองดูในท้อง แล้วจะเค้นภาพขึ้นมาเพื่อจะให้มันชัด เหมือนเราลืมตา
มองดูภาพภายนอก พอเราอยากจะให้ชัด เราก็ต้องหยี ๆ ตาเรา
ติดนิสัยตรงนี้

เราคงเข้าใจว่าเอาวิธีการอย่างนี้มาใช้ในการหาพระรัตนตรัย
ในตัวคงจะได้เหมือนกันมั้ง เพราะคิดเอาเองอย่างนี้แหละจ้ะ
เราจึงเลื่อนการเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวไปเป็นเดือน เป็นปี เป็น
หลาย ๆ ปี เพราะฉะนั้นตอนนี้เราต้องมาปรับวิธีการให้ถูกต้อง
มาปรับกันใหม่นะลูกนะ

วันเวลาผ่านไป อายุเราเพิ่มขึ้น แต่ความแข็งแรงสดชื่นของ
ร่างกายเรามันลดลง เรามีเวลาเหลือกันอีกไม่มากแล้ว มาปรับวิธีการ
กัน โดยเริ่มต้นแบบนักเรียนอนุบาลนี่แหละ

เรายอมตนเป็นนักเรียนอนุบาลที่แท้จริง เหมือนนักเรียนอนุบาล
ที่อยู่ทางโลก คุณครูแนะนำให้ทำอะไรเราก็ทำอย่างนั้นด้วยใจที่
อินโนเซ้นท์ นี่ก็เช่นเดียวกัน เรามายอมตรงนี้กันสักนิดหนึ่ง มาปรับ
การนั่ง ปรับการวางมือ ปรับการวางเปลือกตา ปรับการวางใจ

ใจที่เหมาะสมที่จะเข้าถึงธรรมนั้นจะต้องไม่ผูกพันกับคนสัตว์
สิ่งของใด ๆ ทั้งสิ้น ต้องไม่ผูกพัน ที่เราได้ยินได้ฟังว่า อย่าไปยึดมั่น
ถือมั่นเราฟังกันจนชิน แต่เราก็ยังไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริง

ที่ท่านสอนไม่ให้ไปยึดมั่นถือมั่น ให้ปลดปล่อยวาง เพราะ
ไปผูกพันไปนึกถึงในสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลามันไม่
เกิดประโยชน์ แล้วเราก็ยึดมั่นถือมั่นมายาวนาน ตั้งแต่เราเกิดมา
จนกระทั่งบัดนี้ มันก็ไม่ได้ช่วยให้เรามีชีวิตที่สมบูรณ์ มีความสุข

ที่แท้จริง เพราะฉะนั้นท่านถึงสอนให้ปลดปล่อยวางในคนสัตว์
สิ่งของ แม้โลกใบนี้ก็ยังถึงกาลจะต้องเสื่อมสลายด้วยกัปวินาศ
แม้ร่างกายของเรานี้ก็จะต้องไปสู่จุดสลายสักวันหนึ่ง

ท่านสอนให้ปลดปล่อยวาง วางแม้กระทั่งความคิดว่า เราจะ
ต้องเอาให้ได้อย่างจริงจัง แล้วคาดหวังว่าวันนี้เราจะนั่งได้ดีกว่า
เมื่อวาน ดีกว่าทุก ๆ วัน ความคิดชนิดนี้ แม้เป็นกุศลธรรมก็ไม่ควร
คิดอีกเหมือนกัน ก็แปลว่าเราก็ไม่ต้องไปคิดเรื่องอะไร ไม่ว่าจะบวก
หรือลบ ให้หยุดตรงกลาง ๆ

แต่แม้เราหยุดตรงกลาง ๆ แต่ความคิดมันก็ผ่านมาในใจอยู่
ตลอดเวลา เราก็ต้องใช้สองคำว่า “ช่างมัน”

เราต้องยอมรับว่าในชีวิตประจำวันทุก ๆ วันที่ผ่านมาเราเก็บ
ประสบการณ์เหล่านั้นมาเป็นภาพ มันก็สั่งสมอยู่ในใจ ถึงคราวที่มัน
จะคลี่คลายก็จะมาฉายให้เราเห็นเป็นภาพ ถ้าหากว่าเราไปผูกพัน
กับมัน มันก็ฟุ้งซ่าน ถ้าไปต่อต้านไม่ให้คิด มันก็อึดอัด ทุรนทุราย

เพราะฉะนั้นให้ทำตัวเหมือนท่อนํ้า คืออยู่เฉย ๆ ปล่อยให้นํ้า
มันผ่านไป ท่อธารของใจก็เช่นเดียวกัน เราก็ปล่อยให้ความคิด
เหล่านี้ผ่านไป โดยเราไม่ต้องไปคิดต่อ ทำเฉย ๆ นิ่ง ๆ ตรงนั้น

เราได้รับคำแนะนำว่าให้นึกถึงบริกรรมนิมิตเป็นเพชรสักเม็ด
หรือองค์พระใส ๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง เราก็นึกไป แล้วก็ประคองใจ
ด้วยคำภาวนา สัมมา อะระหัง ก็ทำไป ถึงจุด ๆ หนึ่ง เราไม่อยาก
จะภาวนา ก็ไม่ต้องภาวนา ไม่อยากจะนึกถึงภาพเราก็ไม่ต้องไปนึก
หรือนึกแล้วมันชัดได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้นไปก่อน

เราก็ต้องทำอย่างง่าย ๆ อย่างนี้แหละ แต่เรามักจะฟังผ่าน ๆ
พอฟังผ่าน ชีวิตเราก็ทุกข์ทรมาน เหมือนนั่งฟรีกันไปทุกครั้ง เมื่อย
ฟรี นั่งฟรี ได้แต่ขันติบารมี มันหมดเวลาที่เราจะต้องสูญเสียไปกับ
อย่างนั้นแล้ว

เรามาปรับวิธีการใหม่ ซึ่งก็ไม่ได้มีอะไรใหม่ บอกไปทุกครั้ง
ที่เจอกัน นั่งให้นิ่ง ๆ นุ่ม ๆ สบาย ๆ ไม่ต้องไปควานหาอะไรในที่มืด
ใจนิ่ง ๆ เฉย ๆ ให้ใจอยู่กับตัว

มันแปลกนะ ถ้าใจมาอยู่ภายในตัว กายจะเบาสบาย มันจะ
โล่ง มันจะโปร่ง แต่ถ้าใจไปนึกถึงสิ่งข้างนอก ไม่ว่าจะนึกถึงนกที่บิน
ไปในอากาศ ตัวมันก็ไม่เบาเหมือนนก จะนึกเหมือนสำลีปุยนุ่นที่โดน
แรงลมพัดแล้วมันล่องลอยไปบนท้องฟ้าในอากาศ กายมันก็ไม่เบา
จะนึกถึงเมฆที่เลื่อนลอยไปบนท้องฟ้ามันก็ยังไม่เบาอยู่ดี นึกถึง
เครื่องบินบินได้บนท้องฟ้า นึกยังไงมันก็ไม่เบา นี่มันแปลกนะลูกนะ
ไปนึกเรื่องข้างนอกนี่ยากที่จะทำให้กายเบา ใจเบา มันยากมาก

วิธีที่จะให้ใจเบา ๆ มันต้องเอาใจเรากลับมาอยู่
ในตัว ตั้งแต่ปากช่องจมูก หัวตา กลางกั๊กศีรษะ
เพดานปาก ช่องปากที่อาหารสำลัก กลางท้องระดับ
สะดือ อยู่เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ดีที่สุดคือ
อยู่ในกลางท้องนิ่ง ๆ แล้วอยู่ระดับนั้นไปเรื่อย ๆ แล้ว
มันจะถูกส่วนของมันไปเอง

เวลาถูกส่วนนี่ มันก็จะมีปรากฏการณ์ขึ้นที่ร่างกาย คือตัวจะ
โล่งโปร่งเบาสบาย แม้ยังไม่เห็นอะไรก็เป็นรางวัลสำหรับการนั่งใน
แต่ละครั้ง แล้วเราก็จะมีความรู้สึกพึงพอใจว่า เออ แม้ยังไม่เห็นอะไร
ก็รู้สึกนั่งแล้วดีนะ มีรางวัล มันโล่ง โปร่ง เบา สบาย

แต่เดิมมีความรู้สึกว่า เราต้องฝืน ต้องพยายามที่จะนั่ง
สมาธิ เพราะตั้งใจเอาไว้แล้วบ้าง รับปากกับพระอาจารย์ไว้บ้าง
อะไรต่าง ๆ เหล่านั้น แต่พอเราทำถูกวิธีการแล้วได้ผล คือ ตัวโล่ง
โปร่ง เบา สบาย ความสมัครใจหรืออยากนั่งมันจะเกิดขึ้นมาเอง
มันจะมีความพึงพอใจว่า เออ ดีจัง แล้วพอถึงตรงนั้นเราไม่คำนึงถึง
เรื่องการเห็นแล้ว เราอยากจะนั่งนุ่ม ๆ เบา ๆ ไปนาน ๆ ก็ให้เรา
พึงพอใจในระดับนี้ไปก่อน แม้ไม่มีภาพอะไรให้เราเห็น แม้ไม่มี
ปรากฏการณ์อะไรใหม่ ๆ ให้เราดู

แม้ได้ยินเพื่อนนักเรียนเขามีผลการปฏิบัติก้าวหน้ากว่านี้
เราก็ยังรักษาความสงบของใจได้ ไม่เร่าร้อน ยังสงบได้ อย่างนี้จึง
จะถูกหลักวิชชา แล้วก็ฝึกให้ชำนาญให้ไปสู่จุดนี้บ่อย ๆ นิ่ง นุ่ม
นานขึ้น จนกระทั่งมันนิ่งแน่น

แน่นในที่นี้ไม่ได้แปลว่าอึดอัด แต่หมายถึง มันนิ่งติดแน่น
ในกลางกายมากเข้า ๆ และจะรู้สึกกายขยาย เปลี่ยนสภาวะจาก
ของหยาบมาเป็นของละเอียดคล้าย ๆ วัตถุเปลี่ยนจากของแข็ง
มาเป็นของเหลว จากของเหลวมาเป็นไอเป็นแก๊สอย่างนั้น เปลี่ยน
สภาวะด้วยการนำใจมาหยุดนิ่ง ๆ อย่างนี้ จากหยาบก็ไปสู่ความ
ละเอียดไปเรื่อย ๆ

แล้วเราก็ฝึกไปในทุกอิริยาบถ นั่ง นอน ยืน เดิน ฝึกไป
เรื่อย ๆ มันก็จะมาถึงตรงนี้ได้เร็วขึ้น นานขึ้น จนกระทั่งถึงระดับที่
เราเริ่มสัมผัสกระแสแห่งความสุขภายในที่แตกต่างจากความสุขใน
ภายนอก ซึ่งเราจะเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน

กระแสแห่งความสุขนี้ก็จะยิ่งสร้างแรงบันดาลใจให้เราอยาก
นั่งไปอย่างนี้นาน ๆ โดยไม่อิ่มไม่เบื่อเลย เมื่อความรู้สึกอย่างนี้
เกิดขึ้น ก็เป็นสัญญาณว่าไม่ช้าเราจะเข้าถึงแสงสว่างภายใน
จิตจะบริสุทธิ์เพิ่มขึ้น ความสว่างจะเกิดขึ้น เป็นแสงสว่างภายใน
ที่นุ่มเนียนตาละมุนใจ และจะทำให้เราเห็นภาพภายในวอบ ๆ แวบ ๆ
เกิดขึ้น

ซึ่งเราก็ต้องอย่าไปคิดอะไรมาก มาให้เห็นแล้วก็ดูไป หายก็ช่าง
มัน คือต้องทำความเข้าใจแล้วจำทุกถ้อยคำนะลูกนะ เพราะจะได้ไม่
ช้า แสงสว่างเกิดขึ้นแวบหนึ่งเราก็เฉย ๆ แวบมาแล้วก็แวบไป เราก็
เฉย ๆ จะมาข้างหน้า ข้าง ๆ ข้างหลัง ข้างไหนก็ช่างเถิด เรานิ่งอยู่
ตรงกลางท้องของเราที่เดียว

ไม่ต้องไปชำเลืองดู หรือหวงแหนภาพนั้น ยิ่งหวงแหน ก็ยิ่ง
หนีหายไปเลย ใจเราจะต้องอยู่ที่เดียวที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ใน
กลางท้องนั้น เฉย ๆ มันก็แวบไปแวบมาให้เห็นได้นานขึ้น นานขึ้น
ไปเรื่อย ๆ

เมื่อเรามีชั่วโมงหยุด ชั่วโมงนิ่ง ชั่วโมงกลางเพิ่มขึ้น ไม่ช้าเรา
ก็จะควบคุมมันได้ เหมือนเราเป็นสารถีชั้นดีที่ควบคุมการขับรถ จะ
เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ไปข้างหน้า ข้างหลัง หรือหยุดนิ่งได้ จะควบคุม

เหมือนควบคุมม้าพยศ เหมือนสัตว์เลี้ยงได้ เราก็ฝึกไปเรื่อย ๆ
ใจหยุดนิ่งเดี๋ยวก็มีประสบการณ์ภายในใหม่ ๆ มาให้เราดู

เพราะฉะนั้น มันจะยากตอนช่วงแรก ๆ ดังนั้นเรายอมตน
เป็นนักเรียนอนุบาลทุก ๆ วัน ให้เริ่มต้นใหม่อย่างง่าย ๆ อย่างนี้
ไปเรื่อย ๆ แล้วมันก็จะค่อย ๆ ละเอียดลุ่มลึกขึ้นไปตามล??ำดับ จะรู้
เห็นอะไรไปตามความเป็นจริง จะได้เข้าถึงสิ่งที่มีอยู่แล้วภายใน นี่ก็
เป็นสิ่งที่เราจะต้องปรับปรุงตัวนะ

นำอธิษฐานจิตและอุทิศส่วนกุศล
คราวนี้ เราก็นึกถึงบุญทุกบุญที่เราทำผ่านมานับภพนับชาติ
ไม่ถ้วนมาจนกระทั่งถึงวันนี้ มารวมอยู่ในศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
แล้วก็อธิษฐานจิต ให้บุญนี้ขจัดสิ่งที่เป็นมลทินของใจให้หมดสิ้น
ไป แล้วให้เป็นผังสำเร็จติดไปในภพเบื้องหน้า ให้เราสมบูรณ์ด้วย
รูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ลาภยศสรรเสริญสุข มรรคผล
นิพพาน วิชชาธรรมกาย

เกิดมาให้ระลึกชาติได้ เห็นธรรมะกันตั้งแต่เยาว์วัย สร้าง
บารมีเรื่อยไปจนหมดอายุขัยไปทุกภพทุกชาติตราบกระทั่งถึงที่สุด
แห่งธรรม

ให้เราได้เกิดในร่มเงาพระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกาย ใน
ครอบครัวธรรมกายที่เป็นสัมมาทิฏฐิ มีสิ่งแวดล้อมที่เกื้อหนุนต่อการ
สร้างบารมี พวกพ้องบริวารหมู่ญาติให้เป็นบัณฑิต เป็นนักปราชญ์
คนภัยคนพาลก็ให้ห่างไกล

ให้เรามีสมบัติใหญ่ไหลมาเทมา เอาไว้สำหรับสร้างบารมี
มีแล้วก็ไม่ให้ตระหนี่ ให้มีปฏิคาหกผู้เป็นเนื้อนาบุญมารองรับ
ทานที่เราตั้งใจทำไว้ด้วยดี ให้เราได้เป็นมหาเศรษฐีผู้ใจบุญคํ้าจุน
พระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกาย

แล้วก็ให้บุญนี้ถึงแก่หมู่ญาติ บรรพบุรุษ บุพการี ญาติสนิท
มิตรสหาย หรือสัมพันธชนที่ละโลกไปแล้ว จะไปอยู่ในภพภูมิใด
ก็ตาม ให้บุญนี้ไปถึงกับท่านเหล่านั้น ที่มีทุกข์มากก็ให้ทุกข์น้อย
ที่มีทุกข์น้อยก็ให้พ้นทุกข์ ที่มีสุขน้อยก็ให้สุขมาก มีสุขมากแล้วก็
มากเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ

คู่กรรมคู่เวรที่เราเคยไปเบียดเบียนเขาเอาไว้ในยามที่อกุศล
เข้าสิงจิตให้กระทำความผิดด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ แล้วก็มี
วิบากกรรมติดมา ก็ให้บุญนี้อุทิศไปให้กับท่านเหล่านั้น จะได้ไม่มี
เวรต่อกัน วิบากกรรมก็ให้หนักเป็นเบา เบาเป็นหาย ให้ท่านเหล่านี้
ที่มีทุกข์มากก็ให้ทุกข์น้อย ที่มีทุกข์น้อยก็ให้พ้นทุกข์ สุขน้อยก็ให้
สุขมาก สุขมากแล้วก็มากเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ

ให้บุญนี้ถึงแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณ ตลอดแสน
โกฏิจักรวาล อนันตจักรวาล ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ ในกำเนิด
ทั้ง ๔ ทั้ง อัณฑชะ ชลาพุชะ สังเสทชะ และโอปปาติกะ ให้ได้มี
ส่วนแห่งบุญที่เราได้ทำเอาไว้อย่างดีแล้ว มีทุกข์มากก็ให้ทุกข์น้อย
มีทุกข์น้อยก็ให้พ้นทุกข์ มีสุขน้อยก็ให้สุขมาก มีสุขมากแล้วก็ให้มาก
เพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ

แล้วสิ่งใดที่เป็นกุศลธรรม ขอให้เราได้ทำได้สำเร็จเป็นอัศจรรย์
ในทุกบุญ จะไปชักชวนผู้มีบุญใดมาสร้างบารมี ก็ให้มีวาจาศักดิ์สิทธิ์
มีฤทธิ์ มีเดช มีอานุภาพ พูดจาชนะใจคน ใครได้ยินได้ฟังธรรมก็ให้
เกิดกุศลศรัทธามาสร้างบารมีกับเรา อธิษฐานจิตกันไปให้ดี
อาทิตย์ที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Facebook