เติมกำลังใจในการปฏิบัติธรรม

เติมกำลังใจในการปฏิบัติธรรม
เมื่อไม่รู้จะอ่านอะไร 1





๕๑. รสแห่งธรรม

แค่หยุดประเดี๋ยวเดียว เห็นแสงสว่าง เห็นดวงธรรม
ยังมีรสมีชาติ พูดไม่ออก บอกไม่ถูกทีเดียว
แต่ถ้า “หยุดในหยุด” กว่านั้นเข้าไปอีก
กระทั่งได้เข้าถึงสิ่งที่มีอยู่ในตัว
ได้เห็นดวงธรรม
เห็นกายภายในที่ละเอียด
สลับซับซ้อนอยู่ในกายหยาบไปตามลำดับ
จะยิ่งมีรสมีชาติกว่านี้เข้าไปอีก
เหมือนเถาปิ่นโตที่ใส่อาหาร
ในแต่ละชั้นที่ซ้อนเรียงรายกันอยู่
เปิดเถาแรกขึ้นมารับประทานว่า อร่อยแล้ว
ชั้นถัดไปอร่อยยิ่งกว่านั้นเข้าไปอีก

รสแห่งธรรมก็เช่นเดียวกัน
จะประณีตขึ้น ลุ่มลึกขึ้นไป อร่อยขึ้นไป มีรสมีชาติขึ้นไปเรื่อย ๆ
สนุกสนาน เบิกบาน บันเทิง
ชวนติดตามยิ่งกว่ารสในทางโลกเสียอีก
๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๓


๕๒. หยุด เป็นตัวสำเร็จ...ทั้งทางโลกทางธรรม

หยุด เป็นตัวสำเร็จ ทั้งทางโลกและทางธรรม
ทางโลกจะสำเร็จได้ต้องหยุดก่อน
จะเขียนหนังสือให้ดี จะต้องจับปากกา กระดาษให้มั่นคง
หยุดปากกาให้นิ่ง แล้วก็เริ่มเขียนไป
จะขับรถขับรา ก็ต้องหยุดกับนิ่งให้ดีก่อน แล้วค่อย ๆ ขับกันไป

แม้ปัญหาเกิดขึ้น จะหาหนทางแก้ปัญหา
ก็ต้องเริ่มต้นจากหยุดกับนิ่งก่อน
คือ หยุดหันมามองสิ่งที่เป็นปมปัญหา
เพื่อใจจะได้กลับไปสู่แหล่งแห่งสติปัญญา
เพราะเมื่อเวลาใจหยุดนั้น มันเป็นสมาธิ
สมาธิเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญา
เราก็จะเห็นเลยว่า ปัญหามีวิธีการคลี่คลายของมันไป

เราจะแก้ปัญหาในจุดที่แก้ได้ก่อน
โดยเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ คือ จิตใจของเรา
ทำใจให้ปลอดโปร่ง ให้สบาย ให้ตั้งมั่น
แล้วเดี๋ยวปัญหาก็จะค่อย ๆ คลี่คลาย
จะค้นพบวิธีแก้ไขปัญหาไปตามขั้นตอน

เพราะฉะนั้น “หยุด” นี่แหละ เป็นตัวสำเร็จ
ทั้งทางโลกและทางธรรม
๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๙


๕๓. ทางสายกลาง

จะไปเที่ยวต่างประเทศ จัดทัวร์ไปเที่ยวไหนก็แล้วแต่
เริ่มต้นก็เหนื่อย เดินทาง นั่งรถก็เมื่อย ไปถึงปลายทางก็เพลีย
กลับมาก็ลืมหมด นี่แหละ การเดินทางก็เป็นอย่างนี้

หรือจะเดินทางจากโลกนี้ไปสู่ดวงจันทร์ ดวงดาวต่าง ๆ
เริ่มต้นก็หวาดเสียว กลัวตาย ไปถึงปลายทางก็ไม่มีอะไร
กิเลสยังมีเท่าเดิม ความทุกข์ทรมานก็ยังมีเท่าเดิม
โลภะ โทสะ โมหะ ก็ยังเท่าเดิม
แต่เส้นทางสายกลางภายใน เป็นเส้นทางแห่งพระอริยเจ้า
เป็นทางเอกสายเดียวที่ให้ความสุขเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ตั้งแต่เริ่มต้นเดินทาง จนกระทั่งถึงปลายทาง

ถ้าเข้าไปไม่ถูกช่องทางสายนี้
จะไม่รู้จักความสุขที่แท้จริงเลย
มีแต่สุกเกรียมกับสุกไหม้
จะสุขในขวดก็ดี หรือจะสุขที่ไหนก็ดี
นั่นแหละ เป็นสุขที่มีความหายนะครอบงำ

แต่สุขตรงนี้เป็นสุขจริง ๆ
เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับตัวมนุษย์ และสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ถ้ายังเข้าไม่ถึงสุขตรงนี้ ไม่ถึงต้นทางตรงนี้
ชีวิตยังไม่ปลอดภัย
๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๔


๕๔. เมตตาธรรม

เมื่อเข้าถึงพระธรรมกาย
คำว่า “รักเพื่อนมนุษย์” จะเกิดขึ้น
เป็นความรักที่บริสุทธิ์
ปรารถนาดี....
อยากให้เพื่อนมนุษย์พ้นจากความทุกข์
๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๓


๕๕. เวลาที่เหลืออยู่

เรามีเวลาในโลกนี้น้อย
อย่าคิดว่า เรามีเวลามาก
สิ่งที่เราจะต้องศึกษาเรียนรู้ยังมีอีกมากมาย
เพราะความรู้ที่เกิดจากการหยุดนิ่งนั้น มากมายมหาศาล
แม้อายุยืนยาวไปอีก ๑,๐๐๐ ปี
ก็ยังศึกษาความรู้วิชชาธรรมกายไม่หมด

เพราะฉะนั้น ช่วงเวลาของเรามีนิดเดียว
หลวงพ่อว่า มันมีไม่มากเลย
เราควรจะสงวนเวลาอันมีค่าเอาไว้
สำหรับทำหยุดทำนิ่งให้มากที่สุด
ไม่ว่าเราจะมีภารกิจอะไรก็ตาม
หยุดกับนิ่ง สำคัญมากที่สุดเลย
ต่อไป เมื่อเราหยุดนิ่งได้ เราจะเข้าใจ
๒๓ พฤษภคม พ.ศ. ๒๕๓๕


๕๖. ศาสตร์แห่งชีวิต

หลวงพ่ออยากให้ทุกคน
มีความคิดเช่นเดียวกับหลวงพ่ออย่างนี้
คือ มีความรักวิชชาธรรมกาย
หลวงพ่อรักวิชชาธรรมกายมาก
เพราะมองไม่เห็นว่า จะมีวิชชาอื่นใดในโลก
ที่จะช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้เราได้
ให้เราเป็นคนดี มีความรู้แจ้งได้
มีความสามารถที่จะพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง

และยิ่งในช่วงชีวิตหนึ่งของเรา
จะต้องมีโอกาสไปนอนอยู่บนเตียงคนป่วย
ไปมีสภาพอย่างนั้น
ในยามนั้น...
ศาสตร์ทุกศาสตร์ช่วยอะไรเราไม่ได้
จะเป็นเศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ รัฐศาสตร์
หรือศาสตร์อะไรก็แล้วแต่
พอถึงตอนนั้น ต้องสาดทิ้งหมด

แต่ว่าจะมีสิ่งเดียวที่ช่วยเราได้
คือ พุทธศาสตร์
พุทธศาสตร์... ความรู้ของพระพุทธเจ้าเท่านั้น
ที่จะช่วยให้เราเป็นคนป่วยที่สง่างาม ป่วยอย่างองอาจ
เป็นคนป่วยที่มีรัศมีสีสัน
งดงามกว่าหมอ กว่าพยาบาล กว่าญาติมิตรที่มาเยี่ยม

หลวงพ่อสังเกตดูผู้ป่วยที่ปฏิบัติธรรม
เขาป่วยแต่ร่างกาย แต่จิตใจไม่ป่วยเลย
แล้วดูสดใส เบิกบาน
๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๕


๕๗. เหมือนอากาศที่ขาดไม่ได้

ต้องฝึกนิสัยขยันนั่งธรรมะจนติดเป็นนิสัย
เหมือนเป็นกิจวัตรประจำวัน
เช่นเดียวกับการอาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน
ที่ต้องทำทุกวัน จนเป็นปกติ ไม่ทำไม่ได้
ไม่ทำแล้ว เหมือนชีวิตขาดสิ่งที่สำคัญไปอย่างหนึ่ง
เหมือนอากาศที่ขาดไม่ได้
เราจำเป็นต้องหายใจทุกวัน หายใจอยู่ตลอดเวลา
ถ้าไม่หายใจ เราก็ตาย

การปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน
ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง

ให้มีความสำนึกว่า
การปฏิบัติธรรม เป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับชีวิต
สำคัญยิ่งกว่าอากาศที่เราหายใจ
เพราะถ้าเราขาดอากาศ เราก็แค่ตายจากโลกนี้ไป
แต่ถ้าขาดธรรมะแล้ว เราจะตายจากความดี
ตายจากทุกสิ่งทุกอย่าง

ธรรมะที่ปฏิบัตินี่แหละ จะเป็นที่พึ่งติดตามตัวเรา
แม้เราละโลกไปแล้ว ก็จะมีชีวิตใหม่ที่ประณีตกว่าเดิม
เป็นชีวิตอันยาวนาน ที่มีความสุขด้วยการเข้าถึงธรรม
ธรรมะจะติดตามตัวเราไปทุกภพทุกชาติ
ตลอดเส้นทางแห่งการเดินทางไปสู่ที่สุดแห่งธรรม
๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๓


๕๘. ธรรมปฏิบัติ

สิ่งที่เราทำอยู่นี้ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
เพราะว่า เป็นทางมรรคผลนิพพาน
เรากำลังแสวงหามรรคผลนิพพานอยู่
บุญอันใดจะประเสริฐเลิศเท่ากับการทำใจหยุดนิ่ง
กระทั่งเห็นแสงสว่างแวบเดียวแล้ว เป็นไม่มี
เพราะแสงสว่างนี้ เป็นต้นทางที่จะไปสู่อายตนนิพพาน
๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๕


๕๙. โลกและจักรวาลอยู่ในสายตา

ถ้าทำใจหยุดนิ่ง เห็นดวงใส
เราจะได้เห็นแผนผังของชีวิต
สิ่งที่เป็นความลับ ก็จะเปิดเผยออกมา
เมื่อดวงตาของเราปิดสนิท
แล้วหยุดหมดทุกสิ่ง
ทั้งการกระทำทางกาย คำพูด และความคิด
เปลือกตาที่ปิดสนิทนั้น
จะทำให้โลกและจักรวาลอยู่ในสายตาของเรา
๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๕


๖๐. ดวงตะวันสาดแสง

แม้วันนี้จะมืดตื้อ มืดมิด
แต่สักวันหนึ่ง เราก็จะเข้าถึงธรรมได้
ความมืดไม่เคยเกิน ๑๒ ชั่วโมงต่อวัน
แล้วดวงตะวันก็จะขึ้นมาสาดแสงเงินแสงทอง
ขจัดความมืดให้หมดไป

แสงแห่งธรรมภายในก็เช่นเดียวกัน
สักวันหนึ่ง เมื่อใจเราบริสุทธิ์ หยุดนิ่งถูกส่วนเข้า
แสงสว่างแห่งความบริสุทธิ์ก็จะปรากฏเกิดขึ้นมาเอง
พอแสงสว่างเกิด เดี๋ยวภาพก็จะตามมา
สิ่งเหล่านี้มีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปแสวงหา ถ้าทำให้ถูกวิธี
๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๕


๖๑. ผู้เข้าถึงธรรมกาย....เป็นที่ต้องการของชาวสวรรค์

ผู้ที่ “เข้าถึงธรรมกาย” “เป็นธรรมกาย”
เป็นที่ต้องการของชาวสวรรค์ทั้งหลาย
อยากให้ไปเป็นสหายด้วย อยากอัญเชิญไปอยู่ด้วย
เพราะเข้าใกล้ธรรมกายแล้ว มีความสุข
มันชุ่มอกชุ่มใจ เย็นอกเย็นใจ มีกำลังใจสูงส่ง
อยากอยู่ใกล้
เหมือนร่มไม้ใหญ่
เกิดความอบอุ่นใจ ปลอดภัย มีปีติสุข
กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำความดี
ธรรมกายจึงเป็นของประเสริฐ เลิศนัก
๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๕

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Facebook